23 พฤศจิกายน 2563 ไม่มีวี่แววว่าโลกจะได้ข้อตกลงห้ามอุดหนุนประมงก่อนสิ้นปี

ที่มา: https://tna.mcot.net/world-588279
การเจรจาดังกล่าวมีความเห็นต่างหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา เพราะหลายรายเป็นประเทศประมงขนาดใหญ่ การทำประมงมากเกินไปโดยเฉพาะการใช้อวนลาก ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดลงจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแหล่งยังชีพของคนหลายล้านคน องค์การการค้าโลกกำหนดให้ได้ข้อตกลงยุติการอุดหนุนการประมงที่ไม่มีผลผูกพันภายในสิ้นปีนี้ เพราะการอุดหนุนนำมาซึ่งการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย และไม่มีการกำกับดูแล นอกจากนี้ ยังห้ามการอุดหนุนบางประเภทที่ทำให้มีการทำประมงมากเกินไป แต่มีข้อตกลงพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด แหล่งข่าวเผยว่า คณะเจรจาทำงานหนักขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. แต่เผชิญอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด-19 ทำให้หลายประเทศไม่มั่นใจว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ตามกำหนดเส้นตาย
ข้อมูลของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นักการทูตมักนำมาอ้างอิงคือ การอุดหนุนการประมงมีมูลค่าสูงถึง ๓๕,๔๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๑.๐๗ ล้านล้านบาท) ในปี ๖๑ ในจำนวนนี้ ๒๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๖๖๖,๐๔๖ ล้านบาท) ใช้เพื่อเพิ่มจำนวนเรือประมง ขณะที่องค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ปี ๖๐ สัตว์น้ำเพื่อการพาณิชย์ราว ๑ ใน ๓ ถูกจับในปริมาณที่ไม่เป็นความยั่งยืนทางชีวภาพ ผลผลิตการประมงทั่วโลกในปี ๖๑ มากเป็นประวัติการณ์ถึง ๙๖.๔ ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๔ จากอัตราเฉลี่ยในช่วง ๓ ปีก่อนหน้านั้น เพราะมีการจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เกือบครึ่งมาจาก ๗ ประเทศประมงใหญ่ที่สุดในโลกประกอบด้วยจีน อินโดนีเซีย เปรู อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม