23 พฤศจิกายน 2563 มลภาวะไมโครพลาสติกแพร่ไปถึงส่วนยอดของเขาเอเวอเรสต์แล้ว

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/ update-news/news_5382619
ปัญหาการปนเปื้อนของอนุภาคพลาสติกขนาดจิ๋วที่เล็กกว่า ๕ มม. หรือไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก ล่าสุดครอบคลุมถึงจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร และจุดที่สูงสุดบนหลังคาโลกเรียบร้อยแล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพลีมัทของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์รายงานวิจัยในวารสาร One Earth โดยระบุว่า ตรวจพบมลภาวะของไมโครพลาสติกบนยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นครั้งแรก ซึ่งอนุภาคพลาสติกเหล่านี้ถูกพบอยู่ในหิมะที่ระดับความสูงมากที่สุด ๘,๔๔๐ ม. เหนือระดับน้ำทะเล ห่างจากยอดเขาเพียง ๔๐๘ ม. เท่านั้น ก่อนหน้านี้มีการค้นพบชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋ว ที่ด้านล่างสุดของร่องลึกก้นมหาสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) มาแล้ว โดยพบตรงจุดที่ลึกถึง ๑๑กม. จากผิวน้ำคาดว่า เป็นเศษพลาสติกที่ย่อยสลาย และแยกตัวออกจากแพของขยะชิ้นใหญ่ ก่อนจะจมลงสู่ก้นทะเล
ดร. อิโมเจน แนปเปอร์ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า เก็บตัวอย่างน้ำ ๙๐๐ มล. จากลำธารสายต่าง ๆ บนยอดเขาเอเวอเรสต์มาทั้งหมด ๘ ตัวอย่าง และเก็บหิมะปริมาณ ๓๐๐ มล. จากจุดต่างๆ บนเขามาทั้งสิ้น ๑๑ ตัวอย่างด้วยกัน ซึ่งผลวิเคราะห์พบว่า มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนในตัวอย่างหิมะทั้งหมดที่เก็บมา และยังพบการปนเปื้อนในลำธาร ๓ สายตำแหน่งที่พบมลภาวะจากไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่หนาแน่นที่สุด ได้แก่ บริเวณเอเวอเรสต์เบสแคมป์ (EBC) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่บรรดานักปีนเขาใช้เตรียมตัวก่อนขึ้นพิชิตยอดเอเวอเรสต์ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีกิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นมากที่สุดไปด้วย ทีมผู้วิจัยพบไมโครพลาสติกที่ EBC ในปริมาณโดยเฉลี่ย ๗๙ อนุภาคต่อหิมะ ๑ ลิตร ส่วนไมโครพลาสติกที่พบใกล้กับจุดสูงสุดของเอเวอเรสต์นั้น อยู่ในปริมาณโดยเฉลี่ย ๑๒ อนุภาคต่อหิมะ ๑ ลิตร ชิ้นส่วนไมโครพลาสติกที่พบบนเขาเอเวอเรสต์ส่วนใหญ่ มาจากเส้นใยสังเคราะห์จำพวกโพลีเอสเทอร์และอะครีลิก ซึ่งใช้ทำเสื้อผ้าและของใช้ที่จำเป็นสำหรับการปีนเขา นอกจากนี้ การเดินไปมารอบๆ เพียง ๒๐ นาที การซักผ้า หรือเปิดขวดพลาสติกเพียงชั่วขณะ ก็สามารถปลดปล่อยอนุภาคไมโครพลาสติกให้ออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้แล้ว แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ทราบชัดว่า ไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศหรือไม่ แต่ก็เป็นการดีที่เราจะระมัดระวังป้องกันไว้ก่อน โดยหยุดยั้งมลภาวะของไมโครพลาสติกไม่ให้แพร่กระจายออกไปมากกว่านี้ “ปัญหาของเราในขณะนี้เหมือนกับน้ำที่ไหลล้นออกมาจากในอ่าง ทำให้ต้องคอยเช็ดพื้นที่มีน้ำเจิ่งนองอยู่ร่ำไป อันที่จริงเราควรจะปิดก๊อกน้ำเสียในทันที ซึ่งก็คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยไม่ปล่อยให้ไมโครพลาสติกออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเสียแต่แรกนั่นเอง” ดร. แนปเปอร์กล่าว