13 พฤศจิกายน 2563 พบทะเลสาบโบราณขนาดมหึมาซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์ คาดอายุเก่าแก่นับล้านปี

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_5309470
นักธรณีฟิสิกส์ค้นพบร่องรอยทะเลสาบโบราณขนาดใหญ่ยักษ์ ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผืนน้ำแข็งที่ปกคลุมเกาะกรีนแลนด์เกือบ ๒ กม. คาดว่ามีอายุเก่าแก่ตั้งแต่หลายแสนปีไปจนถึงระดับหลายล้านปีก็เป็นได้ รายงานการค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth and Planetary Science Letters ระบุว่า ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกรีนแลนด์ มีขนาดกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๗,๑๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่ จ. สงขลาของประเทศไทย หรือรัฐโรดไอแลนด์และรัฐเดลาแวร์ของประเทศสหรัฐอเมริการวมกัน แม้ในปัจจุบันทะเลสาบดังกล่าวจะไม่มีน้ำขังอยู่ แต่ยังคงเหลือร่องรอยชั้นหินที่เป็นแอ่งทะเลสาบ โดยจุดที่มีความลึกมากที่สุดอยู่ที่ ๒๕๐ ม. ทั้งยังมีตะกอนปริมาณมากที่ส่วนก้นซึ่งสะสมตัวหนาถึง ๑.๒ กม. น้ำปริมาณมหาศาลไหลมาจากธารน้ำแข็งที่ละลายตัวกลายเป็นลำธาร ๑๘ สาย ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยปรากฏอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบในทุกวันนี้ ทีมนักธรณีฟิสิกส์ในโครงการ Operation Icebridge ขององค์การนาซา เป็นผู้ค้นพบร่องรอยของทะเลสาบโบราณขนาดใหญ่ หลังจากใช้อุปกรณ์เรดาร์ที่ทันสมัยสำรวจจากทางอากาศ โดยตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศด้านล่าง รวมทั้งค่าแรงโน้มถ่วง และสนามแม่เหล็กใต้ผืนน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์
ดร. กาย แพ็กซ์แมน นักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา สันนิษฐานว่า ทะเลสาบโบราณดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่ภูมิภาคแห่งนี้มีสภาพอากาศอบอุ่น และไม่มีน้ำแข็งปกคลุม โดยแอ่งทะเลสาบก่อตัวหลังรอยเลื่อนโบราณของแผ่นเปลือกโลกถูกดึงแยกออกจากกัน “ร่องรอยทางธรณีวิทยาที่เหลืออยู่ของทะเลสาบโบราณแห่งนี้คือ คลังข้อมูลสำคัญที่เก็บรักษาเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอดีต ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางในอนาคต สำหรับการปกป้องผืนน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์จากภาวะโลกร้อนได้” ดร. แพ็กซ์แมนกล่าว
อย่างไรก็ดี การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลข้างต้น รวมทั้งเพื่อทราบอายุที่แน่นอนของทะเลสาบ จะต้องขุดเจาะผืนน้ำแข็งลงไปเก็บตัวอย่างชั้นหิน และตะกอนก้นทะเลสาบขึ้นมาวิเคราะห์ ซึ่งนักวิจัยของสหรัฐอเมริกาจะเริ่มขุดเจาะภายใต้โครงการ GreenDill ในปีหน้า