11 พฤศจิกายน 2563 คาด ๑๕ วันเก็บกู้โครงกระดูกวาฬโบราณสมุทรสาคร

ที่มา: https://news.thaipbs.or.th/content/298234
นายทินกร ทาทอง ผอ. สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต ๒ กล่าวว่า พบโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่ในพื้นที่ ต. อำแพง อ. บ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร ลักษณะถูกทับถมโดยธรรมชาติในชั้นตะกอนดินเหนียวกรุงเทพ ในระดับความลึกประมาณ ๖ ม. เริ่มแปรสภาพบางส่วน และพบเปลือกหอยรวมอยู่ด้วย ลักษณะชิ้นกระดูกที่พบเป็นกระดูกสันหลังค่อนไปทางหาง วางตัวในแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก พบกระดูก ๗ ท่อน แต่ละท่อนมีขนาดกว้าง ๒๕ ซม. ยาว ๖๐ ซม. ซากวาฬน่าจะมีความยาวประมาณ ๑๕ ม. นักธรณีวิทยาจะต้องขุดเปิดหน้าดินรอบๆ พื้นที่ทั้งหมดก่อนถึงจะรู้ว่ามีซากฟอสซิลเพิ่มหรือไม่ การเจอซากวาฬโบราณเป็นการยืนยันหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนว่า ที่ราบลุ่มภาคกลางเคยเป็นทะเลโบราณ หลังจากก่อนหน้าเคยพบเปลือกหอยนางรม และชิ้นส่วนฟันปลาฉลาม แต่ครั้งนี้เจอซากวาฬขนาดใหญ่ เบื้องต้นเจอโครงกระดูกถึง ๗ ท่อน เก็บกู้ซาก และนำมาอนุรักษ์ โดยต้องทำให้อยู่ในสภาพที่สัมผัสอากาศได้ เพื่อไม่ให้เสียหาย รวมทั้งต้องขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชีพ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กรมทรัพยากรธรณีมีแผนดำเนินการเก็บกู้ และอนุรักษ์ตัวอย่างซากวาฬ ขุดตัวอย่าง เข้าเฝือก และขนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ. ปทุมธานี เพื่อเตรียมตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ และศึกษาวิจัยต่อไป
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตกตรวจสอบ และวางแผนการปฏิบัติงานภาคสนามโครงกระดูกวาฬ ผลการตรวจสอบพบว่า โครงกระดูกมีลักษณะสภาพกึ่งซากดึกดำบรรพ์ (semi fossil) โดยสภาพพื้นที่โดยรอบเป็นดินเหนียว และมีเศษเปลือกหอยปะปนจำนวนมาก โครงกระดูกนี้เป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์สามารถนำข้อมูลต่างๆ มาศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทะเล สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศในอดีต โดยกรมทรัพยากรธรณีเก็บข้อมูลพื้นที่ ชั้นดิน เก็บกู้โครงกระดูก และเก็บตัวอย่างศึกษาอายุของโครงกระดูก ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม เพื่อตรวจสอบชนิดของวาฬ การขุด และเข้าเฝือกกระดูกเป็นส่วนๆ ได้ ๑ ม. ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน เพื่อป้องกันความเสียหาย และจะนำไปเก็บรักษาในห้องที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง