2 กรกฎาคม 2563 ค้นพบไข่ไดโนเสาร์ที่เล็กที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1880495
จากการสำรวจเหมืองแห่งหนึ่งในเมืองทัมบะ จังหวัดเฮียวโงะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่นในปี ๒๕๕๘ นำโดยทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยสึกูบะค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลไข่ขนาดเล็กปริศนา ซึ่งมีความยาวเพียง ๔.๕ ซม. กว้าง ๒ ซม. ฟอสซิลไข่ฝังอยู่ในตะกอนเก่าแก่จากต้นยุคครีเตเชียส ระบุว่ามีอายุประมาณ ๑๑๐ ล้านปี ไข่ดังกล่าวได้รับการวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสึกูบะ พิพิธภัณฑ์มนุษย์และธรรมชาติในจังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยคาลการี ประเทศแคนาดา ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมได้ไขความกระจ่างว่านี่คือ ฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ชนิดกินเนื้อกลุ่มเธอโรพอด (Theropods) และยังเป็นไข่ไดโนเสาร์ที่เล็กที่สุดในโลก นั่นหมายความว่า เจ้าของไข่เล็กจิ๋วนี้ น่าจะเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดตัวเล็กหรือแคระ นักบรรพชีวินวิทยาตั้งชื่อไดโนเสาร์ชนิดนี้ว่า Himeoolithus murakamii การขุดค้นช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ๖๒ ในบริเวณเดียวกันนั้นมีการค้นพบฟอสซิลไข่ ๔ ฟอง และมีชิ้นส่วนของเปลือกไข่และโครงกระดูกสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กอีก ๑,๓๐๐ ชิ้น จึงเชื่อกันว่า ในพื้นที่ของเมืองทัมบะน่าจะมีไดโนเสาร์แคระหลายชนิดที่ยังไม่ได้ขุดพบ และซากฟอสซิลเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นว่า เอื้อต่อการอาศัยอยู่ของไดโนเสาร์หลากหลายชนิดได้อย่างไร