17 มิถุนายน 2563 ขอแลก”แก้วพลาสติก” กับ”เปลือกหอย”

ที่มา:https://www.dailynews.co.th/article/780142

ทุกๆ ปี จำนวนขยะอย่างน้อย ๘ พันล้านตันไหลลงสู่ทะเล ซึ่งนับเป็นร้อยละ ๘๐ ของซากใต้น้ำทั้งหมด ขยะพลาสติกเหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของท้องทะเล ทำให้น้ำสกปรก หรือแม้กระทั่งเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์น้ำมากมาย ทุกคนรู้แต่ สัตว์ทะเลไม่รู้ ทุกวันนี้ยังมีข่าวสัตว์น้ำกินพลาสติกหรือติดอยู่ในพลาสติกอยู่

Pall Sigurdsson นักดำน้ำชาวไอซ์แลนด์อัพโหลดวิดีโอลงยูทูปแสดงปัญหาของพลาสติก เผยวินาทีที่เขาต่อรองกับเจ้าหมึกมะพร้าวตัวน้อยที่ติดกับดัก เพื่อแลกแก้วน้ำพลาสติกบนหลังที่มันคิดว่าเป็น “บ้าน” กับเปลือกหอยอันใหม่ Sigurdsson และเพื่อน ๆ ได้ไปดำน้ำที่ Lembeh ประเทศอินโดนีเซีย เขามักจะถ่ายภาพสัตว์น้ำที่เขาเจอตลอดทริป และหนึ่งในนั้นคือ ลูกหมึกมะพร้าวตัวนี้ เขาเล่าว่า “เพื่อนที่ดำน้ำอยู่กับผม ส่งสัญญาณมือมาบอกว่าเขาเจอหมึกและเรียกผมเข้าไปช่วย”

“ผมไม่แปลกใจเลยที่เจอหมึกมะพร้าวอยู่ในบ้านหลังใหม่ของมันที่มาจากขยะ พวกมันเป็นสัตว์ที่ฉลาดและมักใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว และขยะก็ดูท่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ของพวกมันไปแล้ว แต่ที่พวกมันไม่รู้คือ แก้วพวกนี้ไม่สามารถป้องกันมันจากภัยธรรมชาติใต้ท้องทะเลได้ แก้วพลาสติกกลับเป็นตัวการันตีจุดจบของชีวิตมันเสียอีก” Sigurdsson เสริม Sigurdsson เผยว่า เขาและเพื่อนๆ นักดำน้ำคนอื่นๆ ใช้เวลาสักพักจนเกือบทำให้ออกซิเจนในถังหมด กว่าจะหว่านล้อมให้ลูกหมึกตัวน้อยยอมแลกบ้านพลาสติกกับบ้านเปลือกหอย พวกเขาต้องหยิบเปลือกหอยมาให้ลูกหมึกเลือกมากมาย

หมึกมะพร้าวเป็นสัตว์ที่มีสัญชาติญาณในการป้องกันตัวเองโดยการหาซากมะพร้าวหรือหอยเอามาสวมเป็นบ้านเคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีวัสดุจากธรรมชาติให้มันเลือก มันอาจจะเอาซากขยะพลาสติกหรืออะไรก็ตามที่เจอตามท้องทะเลมาใช้แทนได้ ซึ่งพลาสติกใสอาจจะทำให้หมึกตกอยู่ในอันตราย เพราะมันไม่สามารถกำบังเจ้าหมึกจากนักล่าได้ มันจะถูกสัตว์นักล่ากิน และหลังจากนั้นสัตว์ตัวอื่นๆ ก็จะกินสัตว์นักล่าตัวนี้ต่อไป พลาสติกจะกลายไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารใต้ท้องทะเลทันที วิดีโอของ Sigurdsson อาจจะเป็นวิดีโอแสดงให้เห็นถึงเจ้าหมึกที่น่ารัก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงที่พลาสติกกำลังก่อให้กับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน Sigurdsson กล่าวว่า “ในบางวัน (ที่ลงไปดำน้ำ) คุณจะเห็นขยะในท้องทะเลมากมาย จนไม่สามารถถ่ายสัตว์ทะเลใต้น้ำโดยไม่เห็นขยะติดมาด้วยได้เลย”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy