27 พฤษภาคม 2568 : กรมอุทยานฯ จ่อเสนอ ‘ดอยอินทนนท์’ ขึ้นทะเบียน ‘อุทยานมรดกอาเซียน’ เป็นลำดับ 11 ของไทย

กรมอุทยานฯ เจ้าภาพประชุม กก.มรดกอาเซียน จ่อเสนอ ‘อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์’ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งใหม่

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพ แกรน อโศก กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการอุทยานมรดกอาเซียน ครั้งที่ 12 (12th ASEAN Heritage Park Committee Meeting : 12th AHPCM) โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน จาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากติมอร์-เลสเต เข้าร่วมสังเกตการณ์ประเทศไทย

นายอรรถพลกล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุมมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การดำเนินงานในอุทยานมรดกอาเซียน การรายงานความก้าวหน้าโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการหารือและกำหนดทิศทางการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองในภูมิภาคอาเซียน ในโอกาสนี้ ประเทศไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงความประสงค์ที่จะนำเสนอ “อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่” เป็น อุทยานมรดกอาเซียนแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลต่างๆ ตามระเบียบและข้อกำหนดของคณะกรรมการมรดกอาเซียน

อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียนว่า
ต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกพื้นที่, จัดทำเอกสารผ่านสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญจาก ACB (ASEAN Center for Biodiversity), การพิจารณาโดยคณะกรรมการมรดกอาเซียน (AHP..Committee).., การเห็นชอบจากคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (AWGNCB), การรับรองจากคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน
ด้านสิ่งแวดล้อม (ASOEN), และสุดท้ายคือการรับรองและประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ โดยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (AMME) กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่และข้อมูล

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแล้ว 10 แห่ง โดย 9 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ประกาศปี พ.ศ.2527) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ประกาศปี พ.ศ.2527) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา-อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน (ประกาศปี พ.ศ.2546) กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) (ประกาศปี พ.ศ.2546) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (ประกาศปี พ.ศ.2562) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง (ประกาศปี พ.ศ.2562) อุทยานแห่งชาติเขาสก (ประกาศปี พ.ศ.2564) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว (ประกาศปี พ.ศ.2566) อุทยานแห่งชาติภูกระดึง (ประกาศปี พ.ศ.2566) และลำดับที่ 10 คือ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จ.สมุทรปราการ ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567

ที่มา : มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_5200462)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy