6 พฤษภาคม 2568 ‘ทะเลแคสเปียน’ กำลังหดตัว น้ำตื้นเหลือแต่ทราย ‘แมวน้ำ’ เสี่ยงสูญพันธุ์

ทะเลแคสเปียน” ทะเลปิดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาด 387,000 ตร.กม. ตั้งอยู่บริเวณเอเชียกลาง กินพื้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน อิหร่าน คาซัคสถาน รัสเซีย และเติร์กเมนิสถาน กำลังหดตัวลง จาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่ทำให้อุณหภูมิที่สูงขึ้น จนมีน้ำระเหยมากกว่าไหลเข้า เป็นอันตรายต่อ “แมวน้ำแคสเปียน” และชาวบ้านที่อยู่ริมชายฝั่ง

แม้ว่า “ภาวะโลกร้อน” จะถูกจำกัดให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เป็นไปตาม “ความตกลงปารีส” แต่ทะเลแคสเปียนก็ยังมีแนวโน้มว่าระดับน้ำในทะเลปิดแห่งนี้จะลดลง 5-10 เมตร ซึ่งจะทำให้พื้นที่ทะเลแคสเปียนมีพื้นที่ลดลง 112,000 ตร.กม. แต่ถ้าหากควบคุมภาวะโลกร้อนไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ระดับน้ำลดลงถึง 21 เมตรภายในปี 2100

ตลอดหลายพันปี ทะเลแคสเปียนมีช่วงอุณหภูมิขึ้น ๆ ลง ๆ สลับไปมา แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ทะเลปิดแห่งนี้หดตัวลงเร็วขึ้นมาก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมของมนุษย์มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ สร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อน แค่รัสเซียประเทศเดียวก็สร้างเขื่อน 40 แห่ง และกำลังพัฒนา
อีก 18 แห่ง เขื่อนเหล่านี้ทำให้ปริมาณน้ำปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลแคสเปียนลดลงอย่างต่อเนื่อง
แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยทำให้การระเหยของน้ำเพิ่มขึ้นและส่งผลให้มีฝนตกไม่สม่ำเสมอมากขึ้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ของสหราชอาณาจักรได้ทำแผนที่ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์ในภูมิภาคนี้อย่างไร เนื่องจากทะเลแคสเปียนถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภูมิภาคเอเชียกลาง อีกทั้งพื้นที่สำคัญที่สุด
หลายแห่งของทะเลแห่งนี้ตั้งอยู่ในน้ำตื้น จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องสายพันธุ์และชุมชนชายฝั่ง

แมวน้ำแคสเปียน” เป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะในทะเลแคสเปียนที่เป็นน้ำกร่อย แม้แมวน้ำปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังเร็วไม่พอ ถูกคุกคามจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ การขนส่ง และแหล่งที่อยู่อาศัยลดลง จนแมวน้ำแคสเปียนได้รับการขึ้นบัญชีว่าใกล้สูญพันธุ์โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เมื่อปี 2551 ระหว่างเดือน
มกราคม-มีนาคม แมวน้ำจะให้กำเนิดลูกขนสีขาวบนน้ำแข็งในทะเลแคสเปียนทางตอนเหนือ แต่หากระดับน้ำลดลง 5 เมตร ก็อาจทำให้พื้นที่ของแหล่งที่อยู่อาศัยนี้ลดลงถึง 81% ยิ่งจะทำให้จำนวนประชากรแมวน้ำลดลงไปอีก อีกทั้งระดับน้ำทะเลที่ลดลงจะทำให้แมวน้ำไม่มีพื้นที่พักผ่อนบนบก แม้ว่าจะมีเกาะเพิ่มขึ้นจากระดับน้ำที่ลดลง แต่ยังไม่รู้ว่าแมวน้ำจะสามารถใช้อยู่อาศัยได้หรือไม่

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1178542)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy