12 เมษายน 2568 ‘ภาษีคาร์บอนจากขนส่งทางเรือ’ นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ ‘สหรัฐ-จีน’ ไม่เห็นด้วย

          องค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศ (IMO) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเดินเรือระหว่างประเทศ ตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมการเดินเรือเข้าสู่ “เน็ตซีโร่” ภายในปี 2050 และมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่าเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์จะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

         คณะกรรมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล (MEPC) ของ IMO จึงจัดการประชุมหารือมาตรการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของการเดินเรือระหว่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก โดยเฉพาะการจัดเก็บ “ภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการเดินเรือรายใหญ่” ระหว่างวันที่ 7-11 เม.ย. 2025 ณ สำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน

คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ประเทศสมาชิกของ IMO กำลังหารือข้อบังคับระดับโลกใหม่ เพื่อกำหนดราคาภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางทะเล และกำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิงทางทะเลเพื่อค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น โดยอาร์เซนิโอ โดมิงเกซ เลขาธิการ IMO กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมากกว่าการมุ่งหวังเรื่องสภาพภูมิอากาศ แต่จะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับเรือที่แล่นไปทั่วโลก โดยเขามองว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อลดมลภาวะคาร์บอน

ภาคการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบการขนส่งประมาณ 90% ของการค้าโลก ถือเป็นอุตสาหกรรม ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ยากที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากเรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

เอ็มมา เฟนตัน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการทูตด้านสภาพอากาศจาก Opportunity..Green..องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กล่าวว่า การเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินเรือด้วยอัตราคงที่และแพง เป็นวิธีเดียวที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากการเก็บภาษีแล้ว ยังต้องทำควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิงสีเขียว ซึ่งช่วยลดช่องว่างราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงสีเขียว เช่น ไฮโดรเจน เมทานอล และแอมโมเนีย ตามข้อมูลของ Global Maritime Forum องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมนี้

เรือส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้น้ำมันเตา ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษอื่น ๆ ออกมา เมื่อถูกเผาไหม้ เพื่อให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนครั้งใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีการยกเครื่องเชื้อเพลิงเรือ หากบรรลุข้อตกลงนี้ได้ จะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ในการต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นครั้งแรกที่จะมีกรอบการทำงานระดับโลกที่มีประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาระดับนานาชาติ แต่เรื่องมันไม่ได้ขนาดนั้น และยังไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยผู้สังเกตการณ์อ้างถึงความกังวลของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการขึ้นภาษีของสหรัฐ สงครามการค้าโลกที่กำลังก่อตัว และสมาชิกหลายประเทศคัดค้านการเก็บภาษี

สำหรับประเทศที่สนับสนุนการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการเดินเรือรายใหญ่ แบบอัตราคงที่ต่อการปล่อยคาร์บอนหนึ่งเมตริกตัน คือกลุ่มประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้แก่ ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฟิจิ หมู่เกาะมาร์แชลล์ และวานูอาตู และประเทศหมู่เกาะแคริบเบียน เช่น บาร์เบโดส จาเมกา และเกรเนดา

“สำหรับวานูอาตู เราเห็นว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ไม่ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพียงพอ และนี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ หากมาตรการนี้ถูกนำมาใช้จริง จะงมีประสิทธิภาพมากกว่า UNFCCC เสียอีก” ราล์ฟ เรเกนวานู รัฐมนตรีวานูอาตู กล่าว

ที่มา : กรุงเพทธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1175297)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy