6 เมษายน 2568 มจธ. คิดค้นนวัตกรรมการผลิตซิลิกาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ
นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนากระบวนการผลิต ไบโอซิลิกา (Biosilica) จากแกลบข้าว ด้วยกระบวนการชีวภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไร้สารเคมีตกค้าง พร้อมส่งต่อเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง เวชสำอาง ยา และยาง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาซิลิกานำเข้า และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ
3 เม.ย. 2568 ซิลิกา (Silica) เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลายอุตสาหกรรมของไทย ตั้งแต่ยางรถยนต์ เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง ทำให้มีความต้องการใช้สูงมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถผลิตได้เพียง 40% ของความต้องการ ส่วนที่เหลือยังต้องนำเข้าด้วยต้นทุนที่สูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การพัฒนาแหล่งผลิตซิลิกาภายในประเทศจึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดการพึ่งพาการนำเข้า สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยบนเวทีโลก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ ผศ. ดร.สิริลักษณ์ เจียรากร อาจารย์ประจำคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พัฒนากระบวนการสกัดไบโอซิลิกาบริสุทธิ์สูงจากแกลบข้าว ด้วยเทคนิคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไร้สารเคมีตกค้าง เพื่อนำของเหลือจากภาคการเกษตรอย่างแกลบซึ่งมีปริมาณมหาศาลมาเพิ่มมูลค่าเป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูง โดยแกลบข้าวเป็นวัสดุที่มีซิลิกาสูงถึง 20-25% ทำให้ได้รับความสนใจในเชิงอุตสาหกรรมมานาน แต่วิธีการสกัดซิลิกาแบบดั้งเดิมมักใช้กระบวนการเผาที่อุณหภูมิสูงร่วมกับสารเคมีเข้มข้น เช่น กรดไฮโดรคลอริก กรดซัลฟิวริก และกรดไนตริก แม้ว่าจะให้ซิลิกาบริสุทธิ์สูง แต่ก็มีข้อเสียในแง่ของการใช้พลังงานสูง สารเคมีตกค้าง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผศ. ดร.สิริลักษณ์ เล่าว่า เป้าหมายหลักคือการพัฒนา Green Silica Extraction หรือกระบวนการสกัดไบโอซิลิกาที่ลดการใช้พลังงานและเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ทำให้ได้ซิลิกาบริสุทธิ์สูงแต่ไม่สร้างมลพิษ โดยการใช้กระบวนการทางชีวภาพแทนสารเคมี ด้วยวิธีการหมักแกลบด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ ซึ่งทำให้ได้ซิลิกาที่มีความบริสุทธิ์สูงถึง 96-97% ปราศจากสารเคมีตกค้าง กระบวนการนี้เริ่มจากการเอาแกลบมาหมักกับจุลินทรีย์ พด.1 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชีวภาพที่กรมพัฒนาที่ดินแจกให้กับเกษตรกร ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในแกลบตามธรรมชาติ พอหมักได้ที่แล้วก็นำไปล้างและเผาที่อุณหภูมิควบคุม ทำให้ได้ไบโอซิลิกาออกมาเป็นผงละเอียด ขนาดอนุภาคอยู่ที่ 60-200 ไมครอน และมีพื้นที่ผิวประมาณ 148 ตารางเมตรต่อกรัม ซึ่งตรงตามมาตรฐานที่ใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเวชสำอาง ที่ต้องการวัตถุดิบปลอดภัยสูง
ที่มา : TCIJthai.com (https://www.tcijthai.com/news/2025/4/current/14247)