“ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” รองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ นำทีม กก.วล.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามมติ กก.วล. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี)

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสาวกานดา ชูแก้ว รองเลขาธิการ สผ. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กก.วล. 3 ท่าน ( นายยงธนิศร์ นายชวลิต และนายวรพล) พร้อมกับ คณะเจ้าหน้าที่ สผ. โดย ผอ.กยผ. ผอ.กพส. ผอ.กธศ. เจ้าหน้าที่ กปผ. และฝ่ายเลขานุการ กก.วล. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี) ในวันที่ 7 มกราคม 2568 ณ พื้นที่บริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานให้เป็นไป ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กก.วล. เห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน 2562 และเดือนธันวาคม 2564 โดยมีนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและคณะเจ้าหน้าที่ รฟม. ให้การต้อนรับ ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีส้ม นอกจากจะเป็นการติดตรวจเพื่อรับทราบข้อมูลผลกระทบที่มีต่อประชาชน ผลกระทบต่อการจราจร การท่องเที่ยวและความห่วงใยที่มีต่อพี่น้องประชาชนจากการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว ประธาน กก.วล. ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ผู้รับเหมาโครงการต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในระยะการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองโครงการอย่างเคร่งครัด เช่น การป้องกันปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่น เสียง การสั่นสะเทือน การคมนาคมขนส่ง การโยกย้าย การเวนคืนและชดเชยที่ดิน ทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง ให้ดำเนินการแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ อย่างครบถ้วน รวมถึงขอความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างให้มีความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศาสนสถานในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ต้องมีการดำเนินการก่อสร้างด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในเรื่องรูปแบบและตำแหน่งสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกับอารยสถาปัตย์ของพื้นที่โดยรอบการก่อสร้างโครงการ

จัดทำและเผยแพร่โดย กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy