9 สิงหาคม 2563 วิจัยชี้ ‘มลพิษอากาศ’ ทำอายุขัยทั่วโลกสั้นลงเกือบ 2 ปี

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/510577
สำนักข่าวซินหัวรายงาน การวิเคราะห์ข้อมูลจากดัชนีคุณภาพอากาศ (AQLI) ที่จัดทำโดยสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) พบว่า มลพิษจากฝุ่นละอองจะลดอายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกลงเกือบ 2 ปี เมื่อเทียบกับอายุขัยที่ควรจะเป็น หากคุณภาพอากาศเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก
การวิเคราะห์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ส.ค.) ระบุว่า มลพิษจากฝุ่นละอองเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อสุขภาพของมนุษย์ก่อนจะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มลพิษจากฝุ่นละอองกำลังส่งผลกระทบที่มองไม่เห็นภายในร่างกายมนุษย์ และเป็นภัยร้ายแรงที่ทำให้อายุขัยสั้นลงได้มากยิ่งกว่าโรคติดต่ออย่างวัณโรคและเอชไอวี เพชฌฆาตที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งสงคราม
เกือบหนึ่งในสี่ของประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ใน 4 ประเทศเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และปากีสถาน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้อาจมีชีวิตสั้นลงโดยเฉลี่ย 5 ปี หลังจากเผชิญกับระดับมลพิษที่ตอนนี้สูงกว่าเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมาถึงร้อยละ 44
มลพิษจากฝุ่นละอองยังเป็นปัญหาน่ากังวลที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งแหล่งกำเนิดมลพิษแบบดั้งเดิม เช่น ยานพาหนะ โรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรม รวมกับการเผาป่าและพื้นที่เพาะปลูก ได้สร้างความเข้มข้นของมลพิษอย่างร้ายแรง ดังนั้นร้อยละ 89 ของประชากร 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด