9 มีนาคม 2564 แจ้งข้อหาเพิ่ม สวนสัตว์ดัง “๓ เสือโคร่ง” DNA ไม่ตรงปก

ที่มา: https://news.thaipbs.or.th /content/302219

นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสวนเสือมุกดาสวนเสือและฟาร์ม จ. มุกดาหาร จากการข่าวพบสวนสัตว์แห่งนี้มีพฤติกรรมลักลอบค้าเสือโคร่ง โดยเมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย. ๖๓ เข้าตรวจเสือโคร่งของสวนสัตว์ โดยเก็บตัวอย่างเลือดเสือโคร่ง ๕ ตัว และซากเสือ ๑ ตัวที่ตายลงเพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอ ผลตรวจจากศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ ๒๗ ม.ค. ๖๔ และศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เมื่อ ๒ ก.พ. ๖๔ พบเสือโคร่งตัวผู้ชื่อข้าวเม่า และข้าวเปลือก ไม่มีความสัมพันกับพ่อชื่อโดโด้ และแม่ชื่อมะเฟือง อีกทั้งไม่มีความสัมพันธ์กับเสือชื่อให้ลาภ และให้ทองตามที่สวนสัตว์เคยแจ้งไว้กับกรมอุทยานฯ และหลักฐานดังกล่าวนำมาซึ่งปฏิบัติการในการตรวจยึดสัตว์ป่าในสวนสัตว์แห่งนี้

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า ผลตรวจสอบดีเอ็นเอนำข้อมูลที่สวนเสือแจ้งเมื่อวันที่ ๑๑ ส.ค. ๕๘ ว่าพ่อแม่ชื่อให้ลาภ และให้ทอง มีลูกเสือรวม ๔ ตัว คือ ข้าวกล่ำ ข้าวจ้าว ข้าวยำ และข้าวเหนียว แจ้งเกิด ๑๒ ส.ค. ๕๘ แต่ปรากฎว่า ๑๒ ก.พ. ๖๒ เสือชื่อข้าวเหนียวตายลง จากนั้นกรมอุทยานฯ เข้าตรวจสอบความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก เมื่อ ๒๘ ส.ค. ๖๓ แต่ผลดีเอ็นทั้ง ๓ ตัว ไม่มีความเป็นพ่อแม่ลูกกัน จึงเข้าตรวจยึดเมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย. ๖๓ และการพักใช้ใบอนุญาต เมื่อ ๗ ก.พ.ที่ผ่านมา ระยะเวลา ๓๐ วัน เสือโคร่ง ๒ ตัวคือ ข้าวเม่า และข้าวเปลือก นำไปเลี้ยงดูแลไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จ. ศรีษะเกษ ซากเสือโคร่งข้าวเหนียวถูกเก็บรักษาโดยแช่ในฟอร์มาลีนไว้ที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเข้าตรวจสอบมุกดาสวนเสือและฟาร์ม ใบอนุญาตใช้ถึงวันที่ ๒ ก.พ. ๖๕ โดยขอเปิดดำเนินกิจการสวนสัตว์แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ก.ย. ๕๙ โดยตรวจยึดเมื่อ ๑๗ ม.ค. ๖๒ แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะบางตัวเป็นสัตว์ต่างประเทศ เพราะมีแพนด้าแดงจำนวน ๓ ตัว แต่ปรากฏว่า ยังมีการลักลอบนำสัตว์ป่า เช่น เสือโคร่งเข้ามาสวมดีเอ็นเอ ทางกรมอุทยานฯจะแจ้ง ๓ ข้อหาใน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

การเข้าตรวจสอบยังได้แจ้งผลตรวจดีเอ็นเอเสือโคร่งกับผู้กระทำความผิดพร้อมเข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก ๒ ข้อหา กรณีความผิดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๑๗ ฐาน “มีไว้ในครอบครอง ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ฐานผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา ๒๖๗ ฐานผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน หรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy