9 ตุลาคม 2563 MOSE แบริเออร์ใต้น้ำ ช่วยเวนิสแก้ปัญหาน้ำท่วมเรื้อรังได้จริงหรือ

ที่มา:

https://www.thairath.co.th/news/foreign/1947761

เวนิส เมืองอันงดงามและมีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของโลก ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของทะเลเอเดรียติก มีสภาพเป็นเกาะเล็กๆ เชื่อมต่อกันด้วยสะพาน และแบ่งแยกด้วยคลองสายต่างๆ พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากน้ำมาตั้งแต่อดีต เวนิสเป็นมหาอำนาจทางทะเลในเมดิเตอร์เรเนียนได้นานหลายศตวรรษ ด้วยเส้นทางน้ำซึ่งเป็นเหมือนปราการธรรมชาติ ในปัจจุบันคลองอันเป็นเอกลักษณ์ยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า ๒๐ ล้านคนต่อปี แต่น้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่พวกเขาต้องรับมือเช่นกัน ชาวเมืองเวนิสใช้ชีวิตอยู่คู่กับน้ำท่วมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๕ และทุกปีพวกเขาต้องเผชิญปรากฏการณ์อัควา อัลตา (Aqua Alta) หรือการยกตัวของน้ำทะเล ซึ่งเกิดขึ้นช่วงเดือน ต.ค. – มี.ค. กับกระแสลมแรงจากพายุที่พัดพาน้ำทะเลเอเดรียติกเข้าสู่เวเนเชียน ลากูน อ่าวตื้นๆ ที่เมืองเวนิสตั้งอยู่ ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่ำของเมืองได้แล้ว

ชาวเมืองปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับน้ำท่วมโดยเฉพาะ มีการเตรียมกล่องไม้สำหรับเป็นทางเดินในช่วงน้ำท่วม เรือกอนโดลาสามารถถอดหัวเรือออก เพื่อให้ลอดผ่านสะพานข้ามคลองเวลาที่ระดับน้ำเพิ่มสูงได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมเริ่มรุนแรงขึ้นด้วยอิทธิพลจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้เมืองอันงดงามแห่งนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง และอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ เจ้าหน้าที่ของเวนิสเริ่มใช้ระบบวัดระดับน้ำทะเลเป็นครั้งแรก ซึ่งในตอนนั้นเจ้าหน้าที่ระบุว่า เมืองจะเริ่มมีน้ำท่วมหากระดับน้ำแตะ ๘๐ ซม. แต่ในช่วง ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นราว ๓๐ ซม. แล้ว ทำให้เกิดน้ำท่วมง่ายขึ้นไปอีก สถิติมากมายชี้ว่า เมืองเวนิสกำลังเผชิญน้ำท่วมรุนแรงบ่อยขึ้น โดยในช่วง ๕ ปี ระหว่าง ค.ศ.๒๐๑๔ – ๒๐๑๘ มีอัควา อัลตา แบบฉับพลัน ๓๔ ครั้ง ที่ความสูงของระดับน้ำเกิน ๑๑๐ ซม. ทั้งที่ช่วง ๗๗ ปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๕ – ๑๙๕๑ เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เพียง ๓๐ ครั้งเท่านั้น แต่สัญญาณอันตรายที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ พ.ย. ๒๐๑๙ เมื่อ อัควา อัลตา ขนาดใหญ่มาเร็วถึงขนาดที่ชาวเมืองรับมือไม่ทัน ระดับน้ำพุ่งถึง ๑๘๗ ซม. สร้างความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ ร้านค้า โรงแรม มูลค่ากว่า ๑.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และมีผู้เสียชีวิต ๒ ศพ

ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่เวนิสเผชิญหายนะรุนแรงกว่าปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๖ เวนิสเผชิญอัควา อัลตา สูงถึง ๑๙๔ ซม. จนถูกเรียกว่า “Aqua Grand” ทำให้ชาวเมืองหลายพันคนต้องอพยพ ร้านค้ากว่าร้อยละ ๗๕ ในเมืองได้รับความเสียหาย ขณะที่ความเสียหายทางศิลปะมีมูลค่ามากกว่า ๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ขณะที่กิจกรรมของชาวเมืองส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมของเวนิสเลวร้ายลงเช่นกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้มีการขุดน้ำบาดาลใต้เมืองเวนิสมาใช้จำนวนมหาศาล ในช่วงทศวรรษที่ ๕๐ – ๗๐ ทำให้เมืองจมลงถึง ๑๒ ซม. เพิ่มความเสี่ยงน้ำท่วมขึ้นอีก ไม่นับกิจกรรมการก่อสร้างต่างๆ ในเมืองที่ทำให้เวนิสค่อยๆ จมลงประมาณปีละ ๒ – ๓ มม.อยู่แล้ว

ตลอดหลายปีหลังน้ำท่วมใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ รัฐบาลเมืองเวนิสพยายามหาทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการสูบน้ำจากคลองเพื่อเสริมโครงสร้าง ฉีดคอนกรีตเหลวเพื่อยกเมืองให้สูงขึ้น หรือสร้างพรุน้ำเค็ม (salt marsh) กับหาดโคลน (mudflat) เอาไว้ในเวเนเชียน ลากูน เพื่อป้องกันน้ำทะเลที่หนุนเข้ามา แต่ก็ได้ผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๘๐ รัฐบาลกลางของอิตาลีตัดสินใจจะจัดการปัญหาน้ำท่วมที่เวนิสอย่างเด็ดขาด และวางโครงการที่เรียกว่า “MOSE” ซึ่งมาจากชื่อของโมเสส ผู้แหวกทะเลแดงช่วยชาวอิสราเอลหนีจากกองทัพอียิปต์ โดยจะสร้างแบริเออร์เปิด – ปิดจำนวน ๗๘ บานไว้ใต้น้ำตามแนวช่องทางน้ำเข้า (inlets) ทั้ง ๓ จุดที่เชื่อมต่อเวเนเชียน ลากูน กับทะเลเอเดรียติก โดยจะใช้การควบคุมระยะไกล เพื่อยกแบริเออร์ขึ้นมาในตอนที่ระดับน้ำเพิ่มสูง กันไม่ให้น้ำเข้าสู่ลากูน ปกป้องเมืองเวนิสจากน้ำท่วม ก่อนจะลดแบริเออร์ลงเมื่อระดับน้ำต่ำลง

อย่างไรก็ตาม แผนการที่ฟังดูง่ายๆ นี้ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด แผนการได้รับการเสนอเข้าสู่สภาในปี ค.ศ. ๑๙๗๑ และผ่านความเห็นชอบใน ๒ ปีต่อมา แต่นักการเมืองกับวิศวกรถกเถียงกันเรื่องการออกแบบและแก้ไขโครงการหลายต่อหลายครั้งนานกว่า ๓๐ ปี กระทั่งการก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ซึ่งในตอนนั้นรัฐบาลคาดว่าจะใช้เวลาสร้างประมาณ ๘ ปี และใช้งบประมาณราว ๑.๖ พันล้านยูโร

แต่สิ่งที่คาดการณ์ไว้กับความเป็นจริงต่างกันอย่างสิ้นเชิง การก่อสร้างล่าช้าออกไปจากหลายปัจจัย ทั้งข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชัน และการใช้งบเกินกว่าที่กำหนด โดยข้อมูลในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการสร้าง MOSE พุ่งทะยานไปถึง ๕.๕ พันล้านยูโรแล้ว เพิ่มขึ้นจากตัวเลขดั้งเดิมกว่าร้อยละ ๓๔๓ และจนถึงปัจจุบันนี้ประเมินกันว่าประเทศอิตาลีใช้เงินไปกับโปรเจกต์ MOSE แล้วกว่า ๘ พันล้านยูโร ขณะที่คาดว่าโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. ๒๐๒๑

แต่ถึงแม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โปรเจกต์ MOSE ก็เข้าสู่กระบวนการทดสอบของจริงครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ ๓ ต.ค. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันแรกของฤดู อัควา อัลตา ในปีนี้ โดยพยากรณ์อากาศคาดว่า ระดับน้ำจะสูงถึงระดับ ๑๓๕ ซม. มากพอจะทำให้มีน้ำท่วมหลากหลายระดับในพื้นที่ร้อยละ ๕๐ ของเมืองเวนิส

ในวันเสาร์ เสียงไซเรนเตือนภัยน้ำท่วมยังดังขึ้นตามปกติ แต่ที่ต่างออกไปคือ ในเวลา ๑๒.๐๕ น. จัตุรัสเซนต์ มาร์ก ซึ่งปกติแค่น้ำขึ้นเพียง ๙๐ ซม. ก็มีน้ำท่วมถึงเข่าแล้ว ยังคงแห้งเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงน้ำผุดขึ้นมาจากท่อระบายน้ำเท่านั้น ขณะที่เขตทางเหนืออย่าง คันนาเรจิโอ ก็ยังคงแห้งสนิท โปรเจกต์ MOSE ช่วยให้เมืองเวนิสรอดจากอัควา อัลตาได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๑,๒๐๐ ปี

โปรเจกต์ MOSE ซึ่งปัจจุบันบริหารจัดการโดยรัฐบาลกลางอิตาลีถูกส่งต่อให้เมืองเวนิสในเดือน ธ.ค. ๒๐๒๑ หลังโครงการทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการยกพื้นในพื้นที่ต่ำสุดของเมืองให้สูง ๑๑๐ ซม. จากระดับน้ำทะเล เสร็จสิ้น โดยจนกว่าจะถึงตอนนั้น แบริเออร์ MOSE จะถูกใช้เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงกว่า ๑๓๐ ซม.เท่านั้น น้ำท่วมรุนแรงอย่างในปี ค.ศ ๒๐๑๙ อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะแบริเออร์นี้ถูกออกแบบมาให้ป้องกันระดับน้ำสูงสุดถึง ๓ ม. และเมื่อทางการเมืองเวนิสรับช่วงต่อแล้ว MOSE จะถูกใช้เมื่อน้ำทะเลยกตัวสูง ๑๑๐ ซม.ขึ้นไป แต่นั่นหมายความว่า จัตุรัสเซนต์ มาร์ก จะถูกน้ำท่วมต่อไป อย่างเช่นในวันอาทิตย์ที่ ๔ ต.ค. หรือเพียง ๒๔ ชม.หลังจากวันแห่งประวัติศาสตร์ จัตุรัสอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเวนิสแห่งนี้ก็ถูกน้ำท่วมอีกครั้ง หลังระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ ๑๐๖ ซม.

โปรเจกต์ MOSE เผชิญข้อครหามากมาย และการต่อต้านจากนักวิชาการหลายคนที่เตือนว่า โครงการน้ำจะทำลายเมืองเวนิสมากกว่าช่วยเหลือ ดร. เจน ดา มอสโต นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรเอ็นจีโอ “We Are Here Venice” ตั้งคำถามเกี่ยวกับอายุการใช้งานของ MOSE ซึ่งรัฐบาลระบุว่า สามารถใช้งานได้นานนับศตวรรษ แต่ความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำให้ MOSE เสียอายุการใช้งานไปฟรีๆ ถึง ๑๐ ปีแล้ว

ความทนทานไม่ใช่ปัญหาเดียว การยกแบริเออร์ขึ้นจะขวางทางเดินเรือไม่ให้เข้าหรือออกจากท่าเรือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจของเมืองเวนิส แต่ที่สำคัญกว่านั้น MOSE อาจขวางการระบายน้ำเสียจากเมืองสู่ทะเลเอเดรียติก และกักให้น้ำเสียอยู่ภายในเวเนเชียน ลากูน ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน สาหร่ายจะเจริญเติบโตภายในลากูน ทำให้น้ำขาดออกซิเจน และฆ่าสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นทั้งหมด กระทบต่อการทำประมงอุตสาหกรรมเลี้ยงหอย และฟาร์มปลาอย่างหนัก ใช่ว่าวิศวกรไม่ได้คิดถึงปัญหาเหล่านี้ พวกเขาตั้งใจจะใช้ MOSE ในกรณีที่ระดับน้ำทะเลสูงจริงๆ ซึ่งในแต่ละปีเกิดขึ้นไม่บ่อยจนทำให้ MOSE ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของลากูน

แต่การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อนอาจเป็นสิ่งที่วิศวกรมองข้ามไป พวกเขาคาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นราว ๒๐ ซม. ตลอดอายุการใช้งานของ MOSE ต่อรายงานเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ของคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงชี้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีโอกาสที่น้ำทะเลจะเพิ่มสูงถึง ๖๐ ซม. หมายความว่า MOSE จะถูกใช้งานบ่อยขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจจะหลายสิบหรือหลายร้อยครั้งต่อปี จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในที่สุด

สรุปแล้ว MOSE ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำการป้องกันน้ำไม่ให้เข้าท่วมเมืองเวนิสเมื่อวันที่ ๓ ต.ค. แต่โครงการนี้ยังต้องเผชิญการทดสอบอีกมากในอนาคต และตอนนี้แบริเออร์สีเหลืองทั้ง ๗๘ บาน ต้องรับมือกับ อัควา อัลตา ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ซึ่งมีความรุนแรงและมาบ่อยครั้งที่สุดให้ได้เสียก่อน มิเช่นนั้นเรื่องอนาคตก็คงไม่ต้องพูดถึง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy