9 กันยายน 2563 แม่วาฬที่เคยพยุงซากลูก ครึ่งเดือน มีลูกน้อยตัวใหม่ คลายเศร้าแล้ว

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_4869777
แม่วาฬเพชฌฆาตที่มีผู้พบเห็นภาพสะเทือนใจเมื่อสองปีก่อน ขณะมันพยายามพยุงซากลูกน้อยไว้ให้ลอยน้ำใกล้ๆ ตัวอยู่นาน ๑๗ วันแสดงถึงอาการโศกเศร้า ล่าสุด ให้กำเนิดลูกน้อยสุขภาพแข็งแรงแล้ว เป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์ดีใจไปด้วย ศูนย์วิจัยวาฬ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เห็นวาฬน้อยที่มีรหัสว่า เจ-๕๗ ว่ายน้ำอยู่ใกล้ๆ แม่วาฬ รหัส เจ-๓๕ หรือชื่อ Tahlequah – ทาห์เลควาห์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ ก.ย. ที่ทะเลชายแดนระหว่างรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา คาดว่า ลูกวาฬอาจคลอดเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ ก.ย. ศูนย์วิจัยวาฬรายงานว่า เมื่อวันที่ ๕ ก.ย. มีนักดูวาฬสังเกตเห็นลูกวาฬตัวเล็กๆ ส่วนทาห์เลควาห์ว่ายน้ำห่างจากวาฬตัวอื่นๆ และว่ายน้ำข้ามฝั่งไปประเทศแคนาดา จึงยุติการสังเกตและหวังว่าวาฬแม่ลูกคงจะไปได้ดี ทาห์เลควาห์ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในปี ๒๕๖๑ จากการพาซากลูกที่คลอดออกมาตายไปไปมาไหนด้วยกันอยู่ ๑๗ วันในทะเลซาลิช ใกล้ๆ รัฐวอชิงตันและรัฐบริติช โคลัมเบีย ส่วนลูกวาฬอีก ๓ ตัวรอดชีวิต เรื่องราวของแม่วาฬตัวนี้ได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนและสะเทือนใจผู้คนอย่างยิ่ง อเลนา อีบีลิง-ชูลด์ ช่างภาพสัตว์ป่าและวาฬ กล่าวว่า เรื่องราวของวาฬทาห์เลควาห์มากกว่าการกระทบใจ แต่บอกเล่าให้คนรู้ถึงชะตากรรมของวาฬเพชฌฆาตและความรู้สึกที่ซับซ้อนของสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สนใจนัก
วาฬเพชฌฆาตแบ่งออกเป็น ๓ ฝูงใหญ่ๆ กระจายกันอยู่ในช่องแคบจอร์เจีย ช่องแคบไปแวนคูเวอร์ และน่านน้ำโดยรอบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม หรือได้สารอาหารไม่เพียงพอ เพราะอาหารหลักของวาฬเพชฌฆาต คือ ปลาแซลมอนชินุคที่ใกล้สูญพันธุ์ซึ่งลดจำนวนลงมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมื่ออาหารน้อยลงย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตั้งท้องของวาฬ การวิจัยเมื่อปี ๒๕๖๐ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE พบว่าระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๗ แม่วาฬเพชฌฆาตกว่า ๒ ใน ๓ ตั้งท้องไม่สำเร็จ เนื่องจากปลาแซลมอนชินุคน้อยลง ซึ่งเป็นอาหารหลักของวาฬกินปลา และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การตั้งท้องไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงต้องเร่งเพิ่มจำนวนปลาแซลมอนชินุค เพื่อให้วาฬเพชฌฆาตมีประชากรมากขึ้น นักวิจัยพบว่า อัตราการตายของลูกโลมาแรกเกิดสูงขึ้นเช่นกัน ปริมาณสารอาหารลดลงในช่วงไม่กี่ปีนี้ ทำให้การให้ตกลูกล้มเหลวมากขึ้นหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๔๐
ดร.ฮอลลี เฟิร์นบาค จากองค์กรอนุรักษ์ซีไลฟ์ เรสปอนส์ รีฮาบิเทชัน แอนด์ รีเสิร์จ หรือ เอสอาร์๓ สังเกตเห็นว่า ทาห์เลควาห์ตั้งท้องเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนจากภาพที่ถ่ายจากกล้องโดรน และจากการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศจากที่ผ่านมา ทำให้จำนวนวาฬตั้งท้องลดน้อยลงในฝูงวาฬทั้ง ๓ กลุ่ม ดังนั้น การถือกำเนิดลูกวาฬทุกตัวจึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนวาฬอย่างยิ่ง ขณะนี้ ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ทาห์เลควาหจะพาลูกน้อยกลับมาให้เห็นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรือไม่ เพราะวาฬมักว่ายน้ำไปไกล อีบีลิง-ชูลด์ ได้แต่หวังว่าทาห์เลควาห์และลูกน้อยจะเป็นความหวังใหม่สำหรับพวกเราทุกคน