8 เมษายน 2566 EPR เมื่อผู้ผลิตมาร่วมจัดการขยะ ช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (1)

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ (https://www.posttoday.com/post-next/be-greener/692762)
แก้ปัญหาขยะล้นเมืองด้วย EPR – หลักการทางนโยบายที่ทั่วโลกนำมาใช้เป็นฐานในการออกกฎหมาย หรือมาตรการที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบสินค้าที่ตนผลิตตลอดวงจรชีวิตของสินค้านั้นๆ คือ รับผิดชอบตั้งแต่เกิดจนกลายมาเป็นขยะ
วิกฤติขยะที่เกินกำลังท้องถิ่น ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยที่นับวันจะ
ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มของปริมาณขยะมูลฝอยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่นับรวมช่วงการระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ก่อนช่วงโควิด ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศในปี 2562 อยู่ที่ 28.71 ล้านตัน การจัดการขยะส่วนใหญ่ยังคงเน้นวิธีการกำจัดด้วยการฝังกลบ
พบว่า ทั่วประเทศมีสถานที่กำจัดมูลฝอย 2,137 แห่งแต่พบว่า 95% เป็นการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง
ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้บ่อขยะ
การปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดินและแหล่งน้ำใต้ดิน แถมสถานที่ฝังกลบยังเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิด
ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซเรือนกระจกซ้ำเติมภาวะโลกร้อนอีก
ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาขยะด้วยการเพิ่มเตาเผาขยะที่ได้ไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้หรือที่รัฐมักจะเรียกว่า “โรงไฟฟ้าขยะ” โดยเชิญชวนให้เอกชนมาร่วมลงทุน ส่งผลให้มีโครงการแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) ผุดขึ้นมากมายแต่การที่มุ่งเน้นแต่เตาเผาขยะโดยละเลยการส่งเสริมให้ต้นทางคัดแยกขยะจะให้เกิดปัญหามลพิษอากาศ ความเสี่ยงทางสุขภาพจากสารก่อมะเร็ง เช่น ไดออกซิน
ฟิวแรน อีกทั้งการแปลงขยะเป็นพลังงานยังเป็นนโยบายที่สวนทางกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy : CE) ที่เน้นการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด