8 สิงหาคม 2566 ไทยเดินหน้า “เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลน” ใกล้สูญพันธุ์ สู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ไทยเดินหน้า "เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลน" ใกล้สูญพันธุ์ สู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ที่มา : Thairath Online (https://www.thairath.co.th/news/local/2715413)

“ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว” และ “ยุคโลกเดือด global boiling ได้เริ่มขึ้นแล้ว”องค์การสหประชาชาติ
ได้ออกเตือนการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบนโลก ขณะที่อุณหภูมิมหาสมุทรสูงสุด เป็นประวัติการณ์จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้น้ำทะเล ร้อนขึ้นและกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ขณะที่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (IUCN) ได้ประกาศพืชป่าชายเลนที่มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์หรือ IUCN Red List จำนวน 16 ชนิด คือ หงอนไก่ใบเล็ก พังกา-ถั่วขาว ใบพาย โปรงขาว ลำแพน หลุมพอทะเล โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะบูนขาว ตะบูนดำ ถั่วขาว ถั่วดำ โปรงแดง ฝาดดอกแดง พังกาหัวสุมดอกแดง และลำแพนหิน ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ดำเนินโครงการการศึกษาชีพลักษณ์และการเก็บอนุรักษ์พันธุกรรมพืชป่าชายเลนของไทยในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อมุ่งพัฒนาวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชป่าชายเลนแบบระยะยาว เพื่อเป็นคลังความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนในประเทศ โดยในเฟสแรก สวทช. และ ทช. ได้คัดเลือกพันธุ์พืชป่าชายเลนมาศึกษากระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในสภาพปลอดเชื้อ จำนวน 16 ชนิดที่มีความเสี่ยงตามประกาศของ IUCN Red List “การสูญพันธุ์ของพืชในธรรมชาติมีค่อนข้างสูงจากสถานการณ์โลกร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ยากแก่การวางแผนรับมือ ทีมวิจัยจึงใช้วิธีเพราะพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลนด้วยการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชชายเลนด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทนการอนุรักษ์พันธุ์พืชป่าชายเลนด้วยการจัดทำศูนย์รวบรวมพันธุ์ทั้งแบบอนุรักษ์ในพื้นที่และแบบนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยากแก่การวางแผนรับมือล่วงหน้า ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อการกระจายพันธุ์ของพืชบางชนิด ทำให้การเก็บรักษาต้นกล้าด้วยวิธีการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จในระยะยาว ขณะที่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีการเพิ่มจำนวนต้นพืชแบบไม่อาศัยเพศในสภาพปลอดเชื้อ เหมาะแก่การผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคที่มีคุณลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ สามารถเพิ่มปริมาณได้รวดเร็วในพื้นที่ขนาดจำกัด อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับจัดเก็บเชื้อพันธุกรรมพืชที่มีเมล็ดแบบ Recalcitrantหรือเมล็ดชนิดที่ไม่สามารถลดความชื้นเพื่อการเก็บรักษาระยะยาวในสภาวะ เยือกแข็ง (อุณหภูมิ-20 องศาเซลเซียส) ได้ ซึ่งเมล็ดชนิดนี้พบมากในพืชพรรณที่เติบโตในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งร้อน” ดร.ปัญญาวุฒิ อัมพุชินทร์ นักวิจัยธนาคารพืช NBT ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงโครงการเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลน ทั้งนี้ กระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อถือเป็นหนึ่งในแนว ทางการอนุรักษ์พืชป่าชายเลนที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาสำคัญคือพืชป่าชายเลนที่เก็บตัวอย่างจากธรรมชาติมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์สูง โดยเฉพาะเชื้อในกลุ่ม Endophytic microbial หรือจุลินทรีย์ที่อาศัยในชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่สามารถทำให้ตายผ่านการฆ่าเชื้อที่พื้นผิวตามปกติ ทีมวิจัยจึงได้นำต้นกล้าที่จัดเก็บตัวอย่างจากป่าชายเลนมาปลูกในโรงเรือนที่มีความชื้นน้อยกว่าธรรมชาติเพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ ก่อนฆ่าเชื้อด้วยรูปแบบและวิธีการที่ปรับให้เหมาะสม จนทำให้ต้นพันธุ์ปลอดเชื้อได้สำเร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ในขั้นตอนการวิจัยสูตรอาหารเพื่อเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชพันธุ์ต่างๆ ต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy