8 มีนาคม 2568 กรมควบคุมโรค จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ยกระดับการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

ที่มา: https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=50706&deptcode=brc&news_views=619
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 4 (4th International Conference on Occupational and Environmental Diseases – 4th ICOED) ระหว่างวันที่ 5 – 7 มีนาคม 2568 ภายใต้แนวคิด “ยกระดับงานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม นำสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน” โดยมีนายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิทัลและสภาพแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพแรงงานและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรมควบคุมโรคจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไก เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและสามารถทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยได้อย่างยั่งยืน
แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี พบว่าโรคจากการทำงานยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยในปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยโรคปอดจากการทำงานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงานกว่าร้อยละ 35 โดยจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศ และน้ำ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ รวมถึงผลกระทบจากสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนในระยะยาว การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกัน พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ และการรูปแบบการดูแลสุขภาพ รวมถึงกลุ่มแรงงานอิสระที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา เช่น กลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงสุขภาพ เพื่อการกำหนดนโยบายลดโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต (lifestyle) และเน้นการดูแลสุขภาพตนเองได้