8 มกราคม 2568 นักกำหนดอาหารแนะวิธีลด Food Waste จ่ายน้อยลง-สุขภาพดีขึ้น-ช่วยโลกมากขึ้น

ที่มา https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9680000000518
เคยเป็นกันไหม ซื้อของเข้าบ้านทุกอาทิตย์ สั่งอาหารอร่อยๆ มาเผื่อไว้กินพรุ่งนี้ แต่สุดท้าย ของดีๆ กลับต้องไปลงเอยในถังขยะ นี่คงเป็นปัญหาที่หลายคนรู้สึกผิดอยู่ในใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการผลาญเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว
ยังเป็นการสร้างขยะอาหาร (Food Waste) จำนวนมหาศาลซึ่งปัจจุบัน Food Waste ถือเป็นวิกฤตอาหารที่กำลังทวีความรุนแรงในสังคมไทย
รายงานล่าสุดจาก Food Waste Index 2024 ของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจ โดยรายงานว่าคนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยถึง 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นประมาณวันละ 240 กรัม
ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศลดปริมาณขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2030
การเลือกกินอย่างเหมาะสมและพอดี จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดขยะอาหารได้ โดยเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การวางแผนการเลือกซื้ออาหารและดูวันหมดอายุก่อนซื้อ ไม่ตุนอาหารมากเกินจำเป็น หากเราซื้อวัตถุดิบมากักตุนไว้นานและมากเกินไปจนกินไม่ทัน สุดท้ายวัตถุดิบเหล่านั้นก็หมดอายุและต้องทิ้งจนกลายเป็นขยะอาหาร และควรกินอาหารให้หมดจาน โดยเริ่มตั้งแต่ควบคุมปริมาณอาหาร อย่าตักมามากเกินไป หรือสั่งอาหารเกินที่จะกินไหว นอกจากนี้ การกินอย่างยั่งยืน (Sustainable Food) ก็ยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อีกทาง เช่น เปลี่ยนมาทานอาหารที่เน้นพืชหรือ Plant-based ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากการผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูปมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูง ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงสัตว์