7 เมษายน 2565 นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบซากไดโนเสาร์หุ้มเกราะหายากในออสเตรเลีย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2361490
หลายคนอาจคิดว่าการค้นพบไดโนเสาร์ที่สำคัญทั้งหมดเกิดขึ้นจากการพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลในท้องทุ่ง หรือตามแหล่งธรรมชาติในทันที แต่จริง ๆ แล้วบางครั้งการค้นพบไดโนเสาร์ครั้งสำคัญหรือชนิดใหม่ก็มาจากการที่นักวิจัยหยิบฟอสซิลที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์มานานเป็นเวลาหลายปีมาศึกษาใหม่เช่น กะโหลกศีรษะของไดโนเสาร์สกุลแองคิโลซอร์ (ankylosaur) ซึ่งเป็นสมบัติเก่าเก็บในพิพิธภัณฑ์เซาท์ ออสเตรเลีย ซากฟอสซิลเจ้าแองคิโลซอร์ตัวนี้ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 ใกล้กับเมืองบูเลีย ในภูมิภาคควีนส์แลนด์ ทั้งนี้ แองคิโลซอร์มีลักษณะเด่นคือ เกราะหนาที่หุ้มตั้งแต่หัวไปจนถึงปลายหาง และเดินบน 4 ขา พวกมันมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ยุคจูราสสิกตอนต้นจนถึงปลายยุคครีเตเชียส ประมาณ 196-66 ล้านปีก่อน ทว่าเมื่อเทียบกับไดโนเสาร์ชนิดอื่น เช่น ซอโรพอดคอยาว และออร์นิโทพอดที่กินพืชเป็นอาหารและมีขนาดเล็กกว่า ก็ถือว่าซากฟอสซิลแองคิโลซอร์นั้นพบได้น้อยมากในออสเตรเลียและในซีกโลกใต้ ดังนั้นนักบรรพชีวินวิทยาจึงตื่นเต้นเมื่อค้นพบกะโหลกศีรษะของแองคิโลซอร์ตัวที่ 2 ของออสเตรเลีย จากการวิเคราะห์กะโหลกศีรษะและฟันของฟอสซิลดังกล่าว นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า เป็นกระดูกของกลุ่ม Kunbarrasaurus ซึ่งเป็นสกุลหนึ่งในวงศ์แองคิโลซอร์ และสันนิษฐานว่า ไดโนเสาร์ตัวนี้อาจมีแพร่หลายมากในพื้นที่รัฐควีนส์แลนด์ในยุคอดีต โดยมากกว่าที่เคยคิดไว้และมันน่ามีชีวิตอยู่เมื่อ 105 ล้านปีที่แล้ว