7 มีนาคม 2565 จีนพบไดโนเสาร์สเตโกซอรัสพันธุ์ใหม่ เก่าแก่ติดอันดับโลก

ที่มา:
https://mgronline.com/china/detail/9650000022248
เมื่อไม่นานมานี้คณะนักบรรพชีวินวิทยาจีน และสหราชอาณาจักรค้นพบไดโนเสาร์สเตโกซอรัส (Stegosaurus) กิ่งก่ามีหลังคาสายพันธุ์ใหม่จากจีน ซึ่งถือว่าเป็นสเตโกซอรัสที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบในทวีปเอเชีย และเป็นหนึ่งในสเตโกซอรัสที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเจอร์นัล ออฟ เวอร์ทีเบรต พาเลนโทโลจี (JVP) บรรยายถึงลักษณะซากไดโนเสาร์ชนิดดังกล่าว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีหนามปกคลุม และกินพืชเป็นอาหารว่า ประกอบด้วยชิ้นส่วนกระดูกจากหลัง ไหล่ ต้นขา เท้า ซี่โครง และแผ่นหนามหลายชิ้น คณะนักวิทยาศาสตร์กำหนดช่วงอายุของซากดังกล่าวอยู่ในระยะบาโจเชียน (Bajocian) ของยุคจูราสสิกตอนกลาง (Middle Jurassic) ซึ่งเก่าแก่กว่าสเตโกซอรัสส่วนใหญ่ที่รู้จักกันก่อนหน้านี้ หมายความว่า สเตโกซอรัสที่พบตัวนี้เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 168 ล้านปีก่อน โดยซากที่พบบ่งชี้ถึงไดโนเสาร์ 4 ขาที่มีรูปร่างค่อนข้างเล็ก แต่มีลักษณะอันน่าเกรงขาม และเมื่อวัดจากจมูกถึงหางมีความยาวราว 2.8 ม. แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า อยู่ในช่วงโตเต็มวัยหรือวัยเด็ก ผลการศึกษายังพบว่า ไดโนเสาร์ตัวดังกล่าวมีกระดูกสะบักเล็ก และยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนแผ่นหนามมีเปลือกหุ้มที่แคบกว่า และหนากว่า ซึ่งต่างจากสเตโกซอรัส ยุคจูราสสิกตอนกลางตัวอื่นทั้งหมดที่เคยพบจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สเตโกซอรัสตัวนี้มีความคล้ายคลึงกับไดโนเสาร์มีหนามยุคแรกบางตัวที่มีอายุเก่ากว่านี้อีก 20 ล้านปี ผู้นำการวิจัยจากสำนักสำรวจและพัฒนาทางธรณีวิทยาและทรัพยากรแร่ฉงชิ่ง ไต้ฮุย ระบุว่า ลักษณะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเบาะแสสำคัญ สำหรับการจัดลำดับไดโนเสาร์สเตโกซอรัสในแผนผังตระกูลไดโนเสาร์ คณะนักวิจัยตั้งชื่อไดโนเสาร์ตัวดังกล่าวว่า บาชาโนซอรัส พริมิทิวัส (Bashanosaurus primitivus)ตามปาซาน ชื่อในอดีตของสถานที่ที่มีการค้นพบไดโนเสาร์ตัวดังกล่าว ในเทศบาลนครฉงชิ่งของจีน ส่วนพริมิทิวัส เป็นภาษาละตินแปลว่า ลำดับแรก