7 มิถุนายน 2565 พบอุโมงค์ลับในวิหารอายุ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลในเปรู

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2412066
ชาวีน เด อวนตาร์ (Chavín de Huántar) เป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการบรรจุรายชื่อเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอนดีสในเปรูดีส โดยห่างจากกรุงลิมาไปทางเหนือประมาณ 435 กม. เชื่อกันว่า ชาวีน เด อวนตาร์ถูกยึดครองตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลตามที่ผู้เชี่ยวชาญเคยกล่าวว่า ในช่วงเวลาของวัฒนธรรมชาวีน ซากปรักหักพังของวิหารในชาวีน เด อวนตาร์เคยเป็นสถานที่ศูนย์รวมให้ผู้คนในภูมิภาคแถบนั้นมารวมตัวกันเพื่อทำพิธีบูชา ล่าสุดทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา
รายงานการค้นพบอุโมงค์ลับใต้วิหารแห่งหนึ่งอายุ 3,000 ปีในชาวีน เด อวนตาร์ ทีมระบุว่า อุโมงค์ดังกล่าวมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และไม่เคยเห็นในทางเดินใต้ดิน และอุโมงค์นี้เป็นหนึ่งใน 35 อุโมงค์ที่อยู่ใต้วิหารแห่งนี้ การค้นพบอุโมงค์แห่งใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นในปี 62 เมื่อนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดใช้กล้องที่ใช้ระบบหุ่นยนต์สำรวจรูเล็กๆ ที่พบในซากปรักหักพังในชาวีน เด อวนตาร์ ซึ่งเผยให้เห็นถึงการมีอยู่ของทางใต้ดินที่ดูเหมือนจะมีวัตถุอยู่ตรงกลาง ทีมเผยว่า อุโมงค์เหล่านี้เกิดขึ้นก่อนการก่อสร้างทางเดินของวิหารที่อยู่ด้านบน และน่าจะสร้างระหว่าง 1,200-200 ปีก่อนคริสตกาล อีกทั้งการสำรวจด้วยกล้องที่ใช้ระบบหุ่นยนต์ในครั้งนั้นระบุว่า วัตถุลึกลับที่พบคือ ชามหิน และหัวแร้งแกะสลัก สิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมตัดสินใจตั้งชื่อว่า the gallery of the condor ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่สำหรับทำพิธีกรรมเท่านั้น