7 มกราคม 2564 กระบวนการเอื้อต่อชีวิตจุลินทรีย์ใต้ธารน้ำแข็ง

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2007593
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอนตานา ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการที่สนับสนุนชีวิตของจุลินทรีย์ใต้แผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง รวมถึงบทบาทของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่องผ่านยุคน้ำแข็ง หรือในสภาพแวดล้อมที่ดูจะไม่เอื้ออำนวยอย่างดาวเคราะห์ดวงอื่น นักวิจัยเผยว่า ได้ตรวจสอบวิธีที่น้ำและจุลินทรีย์มีปฏิสัมพันธ์กับหินใต้ธารน้ำแข็ง โดยใช้ตัวอย่างของตะกอนที่นำมาจากแหล่งน้ำแข็งในประเทศแคนาดาและไอซ์แลนด์พบว่า กระบวนการทางกายภาพ และเคมีที่หลากหลาย ก๊าซไฮโดรเจนถูกผลิตขึ้นเนื่องจากหินที่อุดมด้วยซิลิกาที่อยู่ภายใต้ธารน้ำแข็งนั้นถูกบดเป็นอนุภาคแร่เล็กๆ ด้วยน้ำหนักของน้ำแข็งที่อยู่ด้านบน อนุภาคแร่ได้รวมตัวกับน้ำที่ละลายจากน้ำแข็ง พวกมันก็ปล่อยก๊าซไฮโดรเจนออกมา ที่น่าสนใจคือ จุลินทรีย์ใต้ธารน้ำแข็งสามารถรวมก๊าซไฮโดรเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสร้างสารอินทรีย์ที่เรียกว่า มวลชีวภาพ (Biomass) ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี คล้ายกับพืชสร้างมวลชีวภาพจากคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการสังเคราะห์แสง แม้ว่าการสังเคราะห์ทางเคมีนั้นจะไม่ต้องการแสงแดดก็ตาม ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งครอบคลุมราวร้อยละ ๑๐ ของมวลพื้นโลกในปัจจุบัน และบางช่วงในอดีต กิจกรรมของจุลินทรีย์น่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพอากาศของโลกทั้งวันนี้และวันวาน นักวิจัยรู้ว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งหรือธารน้ำแข็งสามารถแก้ไขคาร์บอนได้ แต่การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความสมบูรณ์ยั่งยืนในตัวเองในแง่ที่ว่าพวกมันสามารถจัดการคาร์บอนได้แบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้แสงแดด