7 ตุลาคม 2564 เมฆเทียมอาจช่วยรักษาแนวปะการังดังของโลก

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2212544
เพื่อชะลอความเร็วของอุณหภูมิเพิ่มสูงและน้ำอุ่นขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการฟอกสีของปะการัง โดยเฉพาะแนวปะการังที่โด่งดังอย่างเกรต แบร์ริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) ในประเทศออสเตรเลีย ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองหาวิธีที่จะปกป้องสมบัติของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีโครงการที่ชื่อ คลาวด์ ไบรเทนนิง (Cloud Brightening) ผุดขึ้นมา โดยจะใช้กลจักรชนิดใบพัดหมุนให้พ่นอนุภาคจิ๋วของทะเลขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อทำให้เมฆที่มีอยู่หนาขึ้น ช่วยลดแสงแดดในระบบนิเวศแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น ครอสส์ ในประเทศออสเตรเลียอธิบายว่า การพ่นละอองน้ำทะเลขึ้นไปบนท้องฟ้านั้น เมื่อหยดน้ำระเหยกลายเป็นผลึกเกลือขนาดเล็ก ๆ ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ก็จะทำให้ไอน้ำควบแน่นรอบตัวพวกมันและก่อตัวเป็นเมฆ หากทำสิ่งนี้เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์จนถึง 2 เดือน ในขณะที่ปะการังกำลังประสบกับคลื่นความร้อนจากทะเล และกำลังเกิดการฟอกขาว ก็จะเริ่มลดอุณหภูมิของน้ำเหนือแนวปะการังได้จริง โครงการนี้มีการทดลองใช้ครั้งที่ 2 ในเดือน มี.ค. ตรงกับปลายฤดูร้อนของซีกโลกใต้ เป็นช่วงที่แนวปะการังนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลียร้อนที่สุด ซึ่งปะการังมีความเสี่ยงที่จะฟอกขาวมากที่สุด ทั้งนี้ ประโยชน์ของการทำคลาวด์ ไบรเทนนิง จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าจะมีมาตรการอื่นมาชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ