6 มกราคม 2565 ทีมวิจัยค้นพบไข่เหาในมัมมี่ไขปริศนาบรรพบุรุษอเมริกาใต้

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2279935
ความต้องการตัวอย่างของสารพันธุกรรม หรือ DNA จากซากศพมนุษย์โบราณเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักวิจัยต้องการเข้าใจการอพยพ และความหลากหลายในประชากรมนุษย์โบราณ ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเรดดิง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยบังกอร์ในเวลส์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติซานฮวน ประเทศอาร์เจนตินา และมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เผยพบเบาะแสสำคัญเกี่ยวกับผู้คนในอเมริกาใต้เมื่อหลายพันปีก่อน ทีมวิจัยค้นพบดีเอ็นเอของมนุษย์สามารถสกัดได้จากซากสารเหนียวที่ช่วยให้ไข่เหายึดติดกับเส้นผมมนุษย์ที่ได้จากมัมมี่อายุ 1,500-2,000 ปีเป็นครั้งแรก นักวิจัยอธิบายว่า ข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ถูกเก็บรักษาได้โดยสารเหนียวที่ผลิตโดยเหาซึ่งช่วยให้มันวางไข่ติดบนเส้นผมมนุษย์ นอกจากพันธุกรรมแล้ว ชีววิทยาของเหายังให้ข้อมูลถึงการใช้ชีวิตของคนโบราณในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งปริมาณดีเอ็นเอมนุษย์ที่สกัดได้จากสารเหนียวยึดไข่เหากับเส้นผมนั้นพบว่า มีปริมาณสูงอย่างน่าทึ่ง ไขความกระจ่างว่าผู้คนเหล่านี้เป็นใคร อีกทั้งเหาตัวนี้จะเกี่ยวข้องกับเหาชนิดอื่น ๆ อย่างไร และยังบอกใบ้ถึงโรคที่เกิดจากไวรัสอีกด้วย จากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่กู้คืนจากสารเหนียวยึดติดกับไข่เหาพบว่า มีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างมัมมี่ 3 ตนกับมนุษย์ในอเมซอนเมื่อ 2,000 ปีก่อน ชี้ว่าประชากรดั้งเดิมของรัฐซานฮวนนั้นอพยพมาจากอเมซอนฝั่งตอนเหนือของทวีป ซึ่งปัจจุบันคือ ตอนใต้ของประเทศเวเนซุเอลาและโคลอมเบียนั่นเอง