6 พฤศจิกายน 2563 พบกิ้งก่ามาดากัสการ์ที่เห็นเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1970234
โลกของเรากำลังเผชิญกับจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต แบบที่เรียกกันว่า “การสูญพันธุ์ครั้งที่ ๖” บ้างก็เรียก “การสูญพันธุ์ของโฮโลซีน” หรือ “การสูญพันธุ์ของแอนโธรโพซีน” ซึ่งหมายถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์หลายชนิดอันมีมนุษย์เป็นต้นเหตุนั่นเอง การค้นพบสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนจะสาบสูญไปแล้วอีกครั้ง จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะให้ข้อมูลที่มีค่าสำหรับมาตรการอนุรักษ์ และยังนำมาซึ่งความหวังท่ามกลางวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จาก Bavarian State Collection of Zoology (ZSM) ในประเทศเยอรมนีและนักวิจัยจากประเทศมาดากัสการ์ รายงานการค้นพบกิ้งก่าสายพันธุ์ที่เข้าใจยาก ซึ่งพบครั้งสุดท้ายในมาดากัสการ์เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน กิ้งก่าดังกล่าวคือ สายพันธุ์ชื่อ Voeltzkow’s chameleon เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในประเทศมาดากัสการ์ โดยพบจำนวนหลายตัวในระหว่างทีมวิจัยเดินทางไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่เป็นเกาะนอกชายฝั่งทวีปแอฟริกา การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมระบุว่า สายพันธุ์นี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกิ้งก่าพันธุ์ Labord’s chameleon นักวิจัยเชื่อว่าสัตว์เลื้อยคลานทั้ง ๒ ชนิดอาศัยอยู่ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น มันจะฟักออกจากไข่ และเติบโตอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะทำร่างกายให้แข็งแกร่ง และผสมพันธุ์ แล้วก็ตายไปในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน กิ้งก่าเพศเมียของสายพันธุ์นี้ จะแสดงลวดลายจัดเต็มสีสันในระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อเผชิญหน้ากับกิ้งก่าตัวผู้ และเมื่อเกิดความเครียด