6 พฤศจิกายน 2563 ซากฟันบ่งชี้ความหลากหลายของซอโรพอด

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1970260
ไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod) อย่างบรอนโตซอรัส (Brontosaurus) และแบรคิโอซอรัส(Brachiosaurus) เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยหนักได้ถึง ๙๐,๐๐๐ กก. ร่างกายยาว ๔๐ ม. แม้ว่าซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของซอโรพอดเหล่านี้จะพบได้ทั่วไปในตอนกลางของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทว่าหลักฐานมีจำกัด และไม่เพียงพอที่จะอธิบายการดำรงอยู่และวิถีชีวิตของพวกมันแต่การไขปริศนาแห่งอดีตมีความหวังขึ้นเมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ประเทศออสเตรเลียเผยว่า ซากฟอสซิลฟันของไดโนเสาร์ที่ค้นพบจากเมืองไลท์นิง ริดจ์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์นำเสนอข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ว่าไดโนเสาร์ร่างยักษ์เหล่านี้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร และมีวิถีชีวิตอย่างไร ฟอสซิลฟันมีประโยชน์อย่างเหลือเชื่อในการประเมินระบบนิเวศและความหลากหลาย ฟันประเภทต่างๆ เช่น ฟันกรามน้อยฟันหน้า รวมทั้งรูปร่างฟันที่แตกต่างกันช่วยให้รู้ว่ามีสัตว์กี่ชนิดอาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จากการวิเคราะห์พื้นผิวฟอสซิลฟันเพื่อดูคุณสมบัติการกินอาหารจากร่องรอยที่สึกหรอของฟัน นักวิจัยระบุว่า มีซอโรพอดอาจแตกต่างกัน ๓ สายพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมพื้นที่ไลท์นิง ริดจ์ในยุคโบราณ และยังชี้ชัดได้ว่าซอโรพอดอย่างน้อย ๒ ชนิด กินอาหารในระดับที่แตกต่างกันภายในร่มไม้ ซอโรพอดชนิดหนึ่งกินในระดับพื้นดินโดยสูงจากพื้นดินน้อยกว่า ๑ ม. ขณะที่อีกชนิดกินกลางทรงพุ่ม และกินสูงกว่า ๑ – ๑๐ ม. เหนือพื้นดิน