6 กุมภาพันธ์ 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนชาวสวนผลไม้ บริหารจัดการน้ำ รองรับภัยแล้ง

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/east/1765093
กรมส่งเสริมการเกษตร ติดตามสถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออก เตรียมขยายผลสร้างแหล่งน้ำในแปลงปลูกรับมือภัยแล้ง พร้อมหนุนเกษตรกรน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ “ในหลวง ร.9” มาประยุกต์ใช้ในแปลงปลูกตัวเอง
นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปถึงสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก และการบริหารจัดการน้ำในช่วงที่ผลไม้กำลังผลิดอก โดยมี นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เกษตรจังหวัดจันทบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และร่วมประชุม ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี
โดย นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปว่า ข้อมูลจากคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาพบว่าในปี 63 มีพื้นที่ปลูกไม้ผลประกอบด้วยทุเรียน มังคุด และเงาะ รวม 1,038,126 ไร่ และคาดการณ์ผลผลิตทุเรียนประมาณ 417,344 ตัน จากพื้นที่ปลูก 238,932 ไร่ มังคุดพื้นที่ปลูก 131,344 ไร่ คาดการณ์ให้ผลผลิต 139,561 ตัน ส่วนเงาะมีพื้นที่ปลูก 55,191 ไร่ ผลผลิตประมาณ 109,475 ตัน และลำไยซึ่งเริ่มมีการปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นและที่จะออกผลผลิตในปี 2563 นี้ประมาณ 218,759 ตัน จากพื้นที่ปลูก 211,955 ไร่ โดยรวมปริมาณผลผลิตของผลไม้ภาคตะวันออกปี 2563 มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกชนิด ประมาณ 18%
“ในปี 63 มีแนวโน้มน้ำจะน้อยเพราะเกิดความแห้งแล้ง อาจจะมีบางพื้นที่ที่ประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ ในช่วงที่ผลไม้ออกดอกและติดผล แต่พื้นที่จังหวัดจันทบุรีอาจจะกระทบน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ด้วยมีแหล่งน้ำถึง 5 แหล่ง ปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับความต้องการของไม้ผล ซึ่งมีความต้องการมากในช่วง ม.ค.-เม.ย.63 ที่สำคัญเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลกว่า 70% มีการเก็บกักและสำรองน้ำไว้ในพื้นที่ของตนเองสามารถใช้ได้จนถึงช่วงเดือน มิ.ย.63″ นายชาตรี กล่าว
นายชาตรี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ต่อจากนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกด้วยการน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ในแปลงปลูกของตนเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร เนื่องจากแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฏีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น จะมีการบริหารจัดการน้ำในแปลงเพาะปลูกด้วยการขุดสระที่มีขนาดเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ ซึ่งเป็นการเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ เพื่อนำมาใช้ในช่วงไม้ผลออกดอกและติดผลตลอดถึงช่วงหน้าแล้ง ที่สำคัญจะช่วยให้ระดับน้ำใต้ดินไม่ลึกมากนัก ต้นไม้สามารถดูดขึ้นมาใช้บำรุงต้นดอกและผลได้ง่ายยิ่งขึ้น