6 กรกฏาคม 2568 ธปท. เปิดรับทดสอบนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันนี้-30 ธ.ค. 68
ธปท. ประกาศเปิดรับเข้าทดสอบ Green Innovation เน้นออกแบบโปรดักต์เพื่อสิ่งแวดล้อม-ส่งเสริมตลาดใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมหนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สมัครได้ตั้งแต่วันนี้-30 ธันวาคม 2568ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศเปิดเข้ารับทดสอบ (Green Innovation Sandbox) โครงการทดสอบนวัตกรรมของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม (Green Innovation) ภายใต้กรอบ Enhanced Regulatory Sandbox ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-30 ธันวาคม 2568
สำหรับที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการเงินผ่านกลไกการทดสอบในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Regulatory Sandbox) โดยมีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุมและมีแนวทางคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสมเพียงพอธปท.จึงเปิดให้มีการทดสอบโครงการ “นวัตกรรมของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม (Green Innovation)” โดยอ้างอิง กรอบการทดสอบ Enhanced Regulatory Sandbox เพื่อรองรับการทดสอบนวัตกรรมที่ ธปท.ยังไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลดำเนินการ
ทั้งนี้ เพื่อประเมินประโยชน์ ความเสี่ยงและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการประยุกต์ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของผู้ให้บริการหรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คุณสมบัติของผู้เข้าทดสอบผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์
ขอบเขตการทดสอบ Green Innovation
- การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้เข้าร่วมทดสอบนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใด ๆ มาใช้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินของผู้ให้บริการ หรือในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ เช่น เงินฝาก สินเชื่อ เป็นต้น - การส่งเสริมตลาดใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อม (ใบรับรอง) ที่ผู้เข้าร่วมทดสอบพัฒนาระบบนิเวศของตลาดใบรับรอง อาทิ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit : CC) ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) และสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowances) ทั้งในรูปแบบของใบรับรอง หรือใบรับรองในรูปแบบ Tokenization
-ส่งเสริมกลไกตลาด รวมถึงกระบวนการกำหนดราคาผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ โดยเอื้อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงใบรับรองในวงกว้าง และสามารถโอนเปลี่ยนมือได้สะดวก หรือกระตุ้นอุปทาน โดยสร้างแรงจูงใจในการออกใบรับรองเพิ่มเติม
-ส่งเสริมการใช้งาน โดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนำใบรับรองไปใช้ในการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) หรือยืนยันสิทธิในการใช้พลังงานหมุนเวียนได้จริง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (https://www.prachachat.net/finance/news-1839258)