5 มิถุนายน 2566 เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังไม่พร้อมหากต้องจ่ายเพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจเทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มมากขึ้น แต่มองว่า Green Home ตามนิยามที่ควรจะเป็น คือ การก่อสร้าง/วัสดุก่อสร้าง ลดการปล่อยคาร์บอนยังมีต้นทุนสูงมาก และใช้เวลา การพัฒนายังเน้นเพื่อประหยัดพลังงานเป็นหลักเหตุต้นทุนต่ำกว่า แต่ยังสูงกว่าที่อยู่อาศัยปกติ ยังเป็น Niche Market กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม พบกว่า 71% ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากราคาขายที่อยู่อาศัยปรับขึ้นไม่เกิน 10% แนะหากให้เทรนด์เข้าถึงง่ายภาครัฐต้องมีมาตรการจูงใจช่วยลดต้นทุน และมี Taxonomy ที่ชัดเจน
จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าเทรนด์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกิดในหลายธุรกิจมากขึ้น ปัจจุบัน ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยหันมาให้ความสำคัญในพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มุ่งตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการ การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในระยะหลัง การพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเน้นไปในเรื่องของการลดการใช้พลังงาน หรือการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การออกแบบที่อยู่อาศัยที่ช่วยลดใช้พลังงาน การใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยระบายความร้อนหรือลดอุณหภูมิ การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการลดการใช้พลังงาน เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในพื้นที่ส่วนกลางและที่อยู่อาศัย และการติดตั้งระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า Green Home ตามนิยามที่ควรจะเป็น คือ การก่อสร้าง/วัสดุก่อสร้าง ที่ลดการปล่อยคาร์บอน ยังมีต้นทุนสูงมาก ทำให้การพัฒนา Green Home ยังต้องใช้เวลา ในระยะใกล้นี้เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะยังเน้นไปเพื่อการประหยัดพลังงานเป็นหลัก ซึ่งต้นทุนต่ำกว่า Green Home แต่ก็ยังสูงกว่าที่อยู่อาศัยปกติ ทำให้ตลาดนี้ก็ยังเป็นตลาดเฉพาะ Niche Market เพราะต้องมีเงื่อนไขที่ลงตัวหลายอย่าง และสะท้อนจากผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมหากต้องจ่ายเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจมุมมองผู้บริโภคต่อความสนใจในที่อยู่อาศัยที่มีนวัตกรรมประหยัดพลังงาน และความสนใจในการติดตั้งนวัตกรรมประหยัดพลังงานในช่วงที่ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้มองว่าการเปลี่ยนผ่านตลาดที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงยังต้องใช้เวลา และหากจะให้เทรนด์ดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ง่าย ภาครัฐคงจะต้องมีนโยบายที่จูงใจ อาทิ มาตรการลดหย่อนทางภาษี หรือโปรแกรมการคืนเงิน (Cash back) เข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่ต้องการปรับปรุงหรือติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมถึงนโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการในห่วงโซ่ เพื่อช่วยลดต้นทุน เช่น มาตรการทางภาษี/สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเครื่องจักรในการปรับกระบวนการผลิตวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และถ้าจะไปให้ถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Home คงต้องมีคำนิยามกลางหรือ Taxonomy ที่ชัดเจน