5 พฤศจิกายน 2564 40 ประเทศสัญญาหยุดใช้ถ่านหินกู้วิกฤติโลกร้อน แต่สหรัฐอเมริกา-จีน ไม่ร่วมด้วย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2236014
กว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงชาติผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่อย่างประเทศโปแลนด์ เวียดนาม และชิลี ให้คำมั่นร่วมกันในที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) แต่ข้อตกลงดังกล่าวกลับถูกครหา เนื่องจากประเทศที่พึ่งพาถ่านหินมากที่สุดในโลกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา จีน หรือออสเตรเลีย ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย นอกจากนั้นเนื้อหาของสัญญายังอ่อนแอลงด้วยการอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ สามารถขยายเวลาในการลด และเลิกใช้ถ่านหินให้ยืดยาวออกไปอีกได้ คำมั่นสัญญาในข้อตกลงฉบับนี้ระบุว่า ชาติพัฒนาแล้วจะเลิกใช้พลังงานถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2030 หรือโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้น จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ. 2030 ส่วนชาติกำลังพัฒนาตกลงจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040 หรือโดยเร็วที่สุดหลังจากนั้น
นักวิเคราะห์ระบุว่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ถ่านหินมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก ไม่ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ ทั้งที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ตั้งเป้าจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าโดยปราศจากคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2035 เพราะพวกเขาไม่อยากแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ ส.ว.ในรัฐที่พึ่งพาถ่านหินไม่พอใจ หลังจากพรรคเดโมแครตของเขาเพิ่งพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐที่รัฐเวอร์จิเนียในสัปดาห์นี้ ขณะที่นาย เอ็ด มิลิแบนด์ รัฐมนตรีเงากระทรวงเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม COP26 เตือนว่า มีส่วนต่างขนาดใหญ่มากระหว่างจีน ผู้ใช้งานถ่านหินอันดับ 1 กับชาติผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะหยุดเพิ่มการใช้ถ่านหินในประเทศ และรัฐบาลอังกฤษปล่อยให้ประเทศเหล่านี้หลุดรอดจากการทำสัญญาไปได้