5 กุมภาพันธ์ 2565 หิมะยอดเขาเอเวอเรสต์ละลาย นักวิทย์ชี้สะสมมา 2 พันปี เกลี้ยงหมดใน 30 ปี

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6870240
ซีเน็ตรายงานว่า สถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกเผยข้อมูลน่าตกใจ ว่าหิมะบนยอดเขาดังกล่าวกำลังละลายหายไปอย่างรวดเร็วด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน
การสำรวจพบว่าทุ่งหิมะสีขาวโพลนในบริเวณดังกล่าวกลายสภาพธารน้ำแข็งใสตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนถึงการละลายของหิมะจากการรับเอารังสีที่เข้มข้นมากขึ้นจากดวงอาทิตย์ โดยธารน้ำแข็งที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาน้อยลงเรื่อยๆ
กาคำนวณบ่งชี้ว่า ธารน้ำแข็งแห่งนี้มีความหนาน้อยลงถึง 54 เมตร ภายในระยะเวลาเพียง 25 ปี หมายความว่ามีอัตราการละลายไวกว่าอัตราการสะสมหิมะเป็น 80 เท่า เทียบเท่ากับการสูญเสียหิมะที่สะสมมานานกว่า 2 พันปี ตั้งแต่ช่วงปี 2533
นักวิจัย ระบุว่า ปัจจัยเสริมที่มีผลต่ออัตราการละลายของหิมะบนยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นมาจากกระแสลมที่รุนแรงมากขึ้น และความชื้นสัมพันธ์ในอากาศที่ลดลง แต่ปัจจัยหลักนั้นมาจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้น
ผลกระทบระยะสั้นจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ยังจะส่งผลให้การปีนเขาขึ้นสู่ยอดนั้นยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากสันฐานและผนังน้ำแข็งจะแตกตัวได้ง่ายขึ้น ทำให้อาจต้องเปลี่ยนเส้นทาง และใช้อุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย
ส่วนผลกระทบในระยะยาวนั้นจะส่งผลต่อบรรดาชาติที่อยู่รายล้อมเทือกเขาหิมาลัย เนื่องจากมีผู้คนกว่า 1 พันล้านคนบนโลกที่อาศัยน้ำจืดจากเทือกเขาดังกล่าว แม้การละลายของหิมะจะส่งผลดีในช่วงแรกให้มีน้ำจืดมากขึ้น แต่เมื่อหิมะละลายจนหมดลง จะเกิดการขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่
นอกจากนี้ ทีมสำรวจยังพบผลกระทบสิ่งแวดล้อมบนยอดเขาดังกล่าวอีกเป็นขยะพลาสติก ไมโครพลาสติก และเชือกไนลอน คาดว่าน่าจะมาจากบรรดานักปีนเขาผู้ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติทั้งหลาย