5 กันยายน 2563 กาฬสินธุ์เร่งหาแนวทางกันน้ำป่าดงระแนงปลายฝน

ที่มา : https://www.innnews.co.th/regional-news/news_764574/
ที่บริเวณปากทางเข้าบ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการไหลบ่าและกัดเซาะของน้ำป่าดงระแนง เจ้าหน้าที่จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้นำเครื่องจักรกลและคนงาน ซ่อมแซมบริเวณคอสะพานข้ามคลอง และคันคลองส่งน้ำชลประทาน หลังจากได้รับความเสียหายจากน้ำป่า ที่พัดลงมาจากป่าสงวนแห่งชาติดงระแนงหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ซึ่งความเสียหายได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เรียกร้องภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา
นายสุพรรณ ภูบุญเติม นายกเทศมนตรีบัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำจากป่าสงวนแห่งชาติที่ไหลหลากลงมาสู่พื้นที่ด้านล่างดังกล่าว เริ่มเป็นปัญหามาประมาณ 4-5 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากป่าสงวนถูกบุกรุกและส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่ ส.ปก.ชาวบ้านทำแปลงปลูกมันสำปะหลัง พอฝนตกลงมาจึงไม่มีต้นไม้คอยดูดซับและชะลอความเร็วของน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก กัดเซาะถนนเข้าหมู่บ้าน และคลองชลประทานเสียหาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและนาข้าว ได้รับความเสียหายเป็นประจำอีกด้วย
นายสุพรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว และผ่านมาทั้งเทศบาลตำบลบัวบาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว รวมทั้งทางราชการ ต้องสูญเสียงบประมาณในการฟื้นฟูซ่อมแซมถนน คูคลอง และจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวนากุ้งไปหลายล้านบาท ขณะเดียวกันเทศบาลบัวบานในฐานะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเสียหาย ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ป่าไม้ ที่ดิน แขวงทางหลวง ชลประทาน เข้ามาบูรณาการหาแนวทางแก้ไขในระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนนี้
นายสุพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางที่สรุปได้จากการประชุมและลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ข้อยุติ 3 ส่วนคือ ส่วนแรกคือฝ่ายที่ดินจะได้จัดหาต้นกล้าหญ้าแฝกมาทำการปลูก เพื่อรักษาหน้าดินและชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่า ส่วนที่สองคือมอบให้แขวงการทางหรือทางหลวง ทำความสะอาดบริเวณข้างถนน ซึ่งหมายถึงขุดร่องน้ำเป็นแนวยาวตามแนวถนนฝั่งด้านบน ซึ่งแต่เดิมเคยทำไว้แต่เกิดการอุดตัน เพื่อรองรับน้ำป่าไว้ ไม่ให้ไหลบ่าและไหลหลากลงมา ขณะที่ส่วนที่สามคือ บริเวณร่องน้ำป่าตามริมถนนที่ตัดขึ้นไปทางตำบลเขาพระนอนนั้น ให้ออกแบบทำเป็นฝายชะลอน้ำอย่างน้อย 3-4 ตัว เพื่อชะลอความแรงของน้ำป่า และเบี่ยงเบนทางสัญจรของน้ำป่าให้กระจายออกไป ทั้งนี้ คาดว่าหากดำเนินการเสร็จทั้ง 3 ส่วน จะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากมวลน้ำป่าดงระแนงได้