4 มิถุนายน 2564 พบกบใบไม้-รองเท้านารีคางกบ บ่งชี้ป่าฮาลา-บาลายังสมบูรณ์

ที่มา:

https://news.thaipbs.or.th/content/304911

จากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เพื่อเก็บข้อมูลปัจจัยนิเวศ และปัจจัยคุกคามในผืนป่าฮาลา-บาลา พบป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าสนเขามีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก ระหว่างการสำรวจเจ้าหน้าที่พบขนนกหว้า และลานนกหว้ากว่า 10 จุด รวมทั้งพบซากเก้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าถูกล่า โดยเสือขนาดกลาง ซึ่งอาจจะเป็นเสือดาวหรือเสือลายเมฆ เนื่องจากเนื้อส่วนท้องหายไป และไม่พบร่องรอยกระสุน หรือบ่วงแร้ว ยังพบนกอีกหลายชนิด เช่น นกแซงแซวหางบ่วงเล็ก นกเขนน้ำหลังเทา นกมุ่นรกภูเขา นกกินปลีหางยาวคอดำ นกจับแมลงสีคล้ำหางแถบขาว นกอีแพรดคอขาว นกจู๋เต้นหางสั้น นกนิลตวาใหญ่ นกจับแมลงเล็กขาวดำ นกเขาลายใหญ่ นกโพระดกคางเหลือง ที่สำคัญยังพบนกเงือกกรามช้าง 3 ตัวบินผ่านจุดที่เจ้าหน้าที่นั่งพัก นกเงือกปากดำ 4 ตัว นกเงือกชนหิน 1 ตัว และได้ยินเสียงนกเงือกหัวแรด 5 จุด อีกทั้งตลอดเส้นทางของการสำรวจได้ยินเสียงนกชนหิน และนกหว้าส่งเสียงร้องตลอดเส้นทาง

การสำรวจครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบกบใบไม้ หนึ่งในความหลากหลายสายพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่อาศัยในป่าฮาลาบาลา ติดชายแดนมาเลเซีย รูปร่างหน้าตาที่แปลกประหลาดต่างจากกบชนิดอื่น และพรางตัวให้กลมกลืนกับใบไม้หรือธรรมชาติรอบตัว เพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของนักล่า นอกจากนี้ บริเวณยอดเขายังพบเฟิร์นบัวรัศมี บัวแฉก หม้อข้าวหม้อแกงลิง กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบ และพืชพันธุ์หายากอีกหลายชนิด การสนธิกำลัง เพื่อลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางลาง และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าในจุดที่เหมาะสมหลายจุด เพื่อใช้ติดตามพฤติกรรมของสัตว์ป่า และสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy