4 พฤศจิกายน 2563 สัตว์เลื้อยคลานทางทะเลโบราณพันธุ์ใหม่

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1968421
เมื่อประมาณ ๒๔๐ ล้านปีก่อน มีสัตว์เลื้อยคลานนักล่าคล้ายกิ้งก่าตัวเล็กๆ มีฟันเหมือนเขี้ยว หางสั้นแบน เข้าครอบครองมหาสมุทรโดยอาศัยการลอยตัวใกล้ก้นน้ำตื้นเพื่อจับเหยื่อ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลโครงกระดูกของนักล่าชนิดนี้ ๒ ชิ้นค้นพบในเหมือง ๒ แห่งในเมืองเจียงซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน นักบรรพชีวินวิทยาจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแคนาดาวิเคราะห์โครงกระดูกทั้ง ๒ ชิ้นที่ยาวไม่เกิน ๖๐ ซม. ระบุว่า โครงกระดูกดูน่าพิศวงเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลยุคไทรแอสสิกจริงอยู่ที่ศีรษะของมันมีขนาดเล็ก มีเขี้ยว แขนขาเหมือนครีบ คอยาว และปกติสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลยุคนั้นจะมีหางยาวที่ช่วยเคลื่อนไหวโดยหางจะสะบัดในน้ำ ทำให้เกิดแรงผลัก แต่สายพันธุ์นี้กลับมีหางสั้นและแบน ซึ่งแตกต่างออกไปสันนิษฐานว่า หางสั้นนั้นน่าจะเหมาะต่อการลอยตัวใกล้บริเวณก้นทะเลตื้นๆ ความสั้นและแบนของหางจะถ่วงสมดุล เช่นเดียวกับการลอยตัวใต้น้ำ ทำให้สามารถรักษาพลังงานในขณะที่คอยเฝ้าหาเหยื่อได้ ทีมนักบรรพชีวินวิทยาตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า Brevicaudosaurus jiyangshanensis แต่ที่น่าสนใจคือ ซี่โครงมีความหนาแน่นสูง หรือมีการแข็งตัวของกระดูก อาจบ่งชี้ว่ามันมีปอดขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องขึ้นมาที่ผิวน้ำเพื่อรับออกซิเจนด้วยรูจมูกที่ใช้หายใจ ส่วนปอดขนาดใหญ่จะเพิ่มเวลาให้มันสามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน