4 ตุลาคม 2563 งานวิจัยชี้ ไทยยังเป็นเส้นทาง “การค้าสัตว์ป่า” ของเอเชีย

ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/297065
จากผลการวิจัยเรื่อง “สถานการณ์สัตว์ป่าไทย : การค้าขายสัตว์ป่า สวนสัตว์ และเขตอนุรักษ์ : ปัญหา ทางออก และโจทย์วิจัย” จัดทำโดย คณะนักวิจัยจากมูลนิธิเพื่อการศึกษาคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช นำโดย นายนิคม พุทธา ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
งานวิจัยระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มสถานการณ์ของสัตว์ป่าไทย ยังคงน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มถูกคุกคามมากขึ้น แม้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอดมา จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พบว่า ปัจจุบันนอกจากค่านิยมในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าของกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความเชื่อบางอย่างมีมากขึ้น ทำให้สัตว์ป่ายังคงถูกล่าเพื่อเป็นอาหารของคนกลุ่มนี้ “ค่านิยมใหม่ๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแก้เหงา เลี้ยงเป็นแฟชั่น ยังมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้มีการนำเข้าสัตว์แปลกๆ จากต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ มีการเติบโตของตลาด การซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต”
ประเทศไทยมีบทบาทเป็นผู้ส่งผ่านสัตว์ป่าจากประเทศต้นทาง ที่สำคัญอย่างน้อย 6 ประเทศ คือ พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา และลาว สู่ประเทศปลายทางคือ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะจีน เป็นประเทศที่มีความต้องการสัตว์ป่ามากขึ้น ตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พื้นที่บริเวณชายแดนเป็นพื้นที่มีการซื้อขายกันมาก โดยลำเลียงทั้งทางรถยนต์ เรือ และเครื่องบิน ซึ่งพัฒนาวิธีการลำเลียงที่ซับซ้อนมากขึ้น และการลักลอบค้าสัตว์ป่าบางชนิด ก็นำไปสู่สัตว์ในสวนสัตว์ เช่น ลิงอุรังอุตัง และเสือโคร่ง
จากการศึกษาพบประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ การขาดมาตรฐานในการจัดการ เพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ในสวนสัตว์ “ที่สำคัญคือข้อสงสัยในแหล่งที่มาของสัตว์ในสวนสัตว์ รวมทั้งความสัมพันธ์ของกิจการสวนสัตว์กับขบวนการค้าขายสัตว์ป่าจากแหล่งธรรมชาติ เป็นประเด็นท้าทายที่ต้องศึกษาต่อไป”