4 กุมภาพันธ์ 2566 พื้นที่ชุ่มน้ำ : สัญญาณหายนะของระบบนิเวศที่รอวันตาย

(https://waymagazine.org/world-wetlands-day/)
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกกำหนดเป็น ‘วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก’ (World Wetlands Day) เพื่อย้ำเตือน
ว่า เมื่อปี 1971 นานาประเทศทั่วโลกได้ลงนามในอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ที่เมืองแรมซาร์
ประเทศอิหร่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ประเทศไทยของเราก็มีพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายอยู่เกือบทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะกระจุกรวมอยู่บริเวณภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจตลอด 1 ศตวรรษที่ผ่านมา กลับพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกได้ถูกทำลายหายไปมากกว่าครึ่ง บทความนี้ ผมจึงอยากชวนผู้อ่านมาเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland science) เพื่อให้ทราบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และเหตุใดเราจึงต้องช่วยกันดูแลรักษา
กำเนิดพื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) หมายถึง บริเวณที่มีน้ำท่วมถาวรหรือมีน้ำท่วมชั่วคราวเป็นบางเวลา พื้นที่ชุ่มน้ำจะถูกหล่อเลี้ยงด้วยน้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำบาดาล จนมีสภาวะน้ำขังใต้ผิวดิน (waterlogging) ด้วยเหตุนี้ เสถียรภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำจึงขึ้นอยู่กับน้ำที่ไหลเข้าและไหลออกจากระบบ พื้นที่ชุ่มน้ำส่วนใหญ่จะมีพืชนานาพรรณเข้ามาครอบครองพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหญ้า ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้น รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตั้งแต่แมลง สัตว์มีเปลือก ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปจนถึงนก
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ พบว่าการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะจำเป็นต้องรู้ความสัมพันธ์ของปัจจัยทางฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภูมิอากาศวิทยา ธรณีวิทยา อุทกวิทยา และลำดับการเปลี่ยนแปลงให้ครบทุกขั้นตอน ซึ่งยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถล่วงรู้ได้ทั้งหมด ดังนั้น การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องเข้าใจระบบนิเวศและขีดจำกัดการใช้งานของพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะเมื่อใดที่ความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรทางธรรมชาติไม่สมดุลกัน ผลลัพธ์มักจะลงเอยที่ธรรมชาติถูกทำลายไปเสียทุกครั้ง