4 กรกฏาคม 2567 เตรียมการเข้ม ดัน ภูพระบาท ขึ้นเป็น มรดกโลก คุณค่าโดดเด่น วัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี

ที่มา : ข่าวสด ออนไลน์ (https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_777777811108)
สผ. เตรียมการประชุมมรดกโลก ครั้ง 46 จ่อดัน ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นมรดกโลก
ชี้คุณค่าโดดเด่น วัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์-ประกอบพิธีกรรม
3 ก.ค. 67 – ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณรองปลัด ทส. พร้อมด้วย นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และน.ส.กรพินธุ์ พยัคฆประการณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานการบริหารจัดการมรดกโลก กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม ร่วมแถลงข่าวการเตรียมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดียโดยการประชุมในปีนี้ คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก โดยมี สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเป็นเลขานุการคณะ
นายประเสริฐ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ราชอาณาจักรไทย จะเข้าร่วมการประชุมในฐานะ ผู้สังเกตการณ์การประชุม โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญและนำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้กับชาวไทยทุกคนที่จะมีการพิจารณาในช่วงระหว่างวันที่ 26 –..29 ก.ค. 2567 จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การพิจารณาบรรจุเหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ซึ่งการดำเนินการนำเสนอแหล่งดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 โดยพื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 4 พื้นที่ ได้แก่ 1. เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง 2. เมืองโบราณสทิงพระ 3. เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า ณ เขาแดง และแหลมสนและ 4. เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง ทั้งนี้ ขั้นตอนภายหลังจากคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาให้การรับรอง ราชอาณาจักรไทยจะสามารถจัดส่งเอกสารนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาได้ 2. การพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จ.อุดรราชธานี เป็นมรดกโลก โดยพื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ 1. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ 2. แหล่งวัฒนธรรมสีมา
ขณะนี้ (ร่าง) ข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period” หรือ ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี