4 กรกฏาคม 2566 เปลี่ยนขยะเป็นอิฐบล็อก ก้าวเล็กๆ จากต้นกล้าไร้ถัง สู่เกาะพะงันที่ไร้ขยะ

ที่มา : workpointtoday.com (https://workpointtoday.com/phangan-no-trash/)
เกาะพะงันเป็นเกาะที่การท่องเที่ยวเติบโต พูดถึงเกาะพะงัน ใครๆ ก็นึกถึงฟูลมูนปาร์ตี้
แต่การเติบโตของการท่องเที่ยวและเมืองมาพร้อมกับปัญหาขยะบนเกาะ ที่เทศบาลต้องใช้เงินถึงปีละ 23 ล้านบาท ในการจัดการขยะเหล่านี้
แต่ขยะก็ใช่ว่าจะหายไปโดยง่าย เมื่อขยะปริมาณมากเริ่มเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม คนพื้นที่เริ่มมองเห็น ก็เกิดการร่วมมือกันขึ้นบนความตั้งใจว่าจะทำให้เกาะแห่งนี้เป็นชุมชนที่ไม่ต้องมีถังขยะ เพราะทุกคนสามารถจัดการกับของเหลือทิ้งเหล่านั้นได้และก้าวเล็กๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นก็เริ่มที่การทำอิฐบล็อกรักษ์โลกที่ “โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา” ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของครูในโรงเรียน นำมาสู่การมีจิตสำนึกร่วมกันของทุกฝ่ายบนเกาะ หากพูดถึง “เกาะพะงัน” ภาพที่ใครหลายคนนึกถึง น่าจะเป็นภาพการเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ใกล้เกาะสมุยที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่โด่งดังไปทั่วโลก อย่างฟูลมูนปาร์ตี้ การเติบโตของการท่องเที่ยวนี้เองทำให้เกิดการขยายตัวของผู้คนและเมือง ทั้งคนท้องถิ่นที่อยู่มาแต่เดิม คนที่เข้ามาทำงาน และคนที่มาเข้ามาท่องเที่ยว เมื่อเมืองขยายแบบไม่ได้มีมาตรการจัดการขยะรองรับ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่ตามมาของเกาะพะงันคือขยะจำนวนมหาศาลที่ค้างอยู่บนเกาะ และ
ด้วยความที่สภาพของการเป็นเกาะ ทำให้การจัดการขยะทำได้ยากกว่าบนแผ่นดินใหญ่ 3-4 เท่า กล่าวคือ สภาพความเป็นเกาะทำให้การขนส่งขยะมีต้นทุนการขนส่งที่มากกว่า ขยะบางประเภทขายไปก็ได้ราคา ไม่คุ้มกับการจ่ายค่าเดินทางให้ร้านรับซื้อด้วยซ้ำ และหากจะกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบเองบนเกาะที่ดินบนเกาะพะงันตอนนี้ก็กลายเป็นที่ดินที่มีมูลค่าไปทุกอณู ทำให้การหาสถานที่ที่จะนำมาใช้จัดการขยะนั้นทำได้ยาก บนเกาะพะงันประกอบไปด้วยเทศบาลทั้ง 3 เทศบาล โดยเทศบาลตำบลเพชรพะงัน มีขยะเกิดขึ้น 15 ตัน/วัน เทศบาลตำบลบ้านใต้ มีขยะเกิดขึ้น 15 ตัน/วัน และเทศบาลตำบลเกาะพะงัน มีขยะเกิดขึ้น 20 ตัน/วัน เทศบาลเหล่านี้ต้องใช้เงินวันละ 7 หมื่นบาท หรือราว 23 ล้านบาท/ปี เพื่อจัดการกับของเสีย-ของเหลือทิ้งเหล่านี้ แม้จะมีงบประมาณจากภาครัฐเพื่อจัดการกับขยะ แต่นั่นก็ดูยังไม่เพียงพอต่อขยะมหาศาลบนเกาะพะงันแห่งนี้ ขยะบนเกาะเริ่มกลายเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ส่งกลิ่นเหม็น เกาะพะงันไม่สะอาดสวยงามดังก่อนอีกต่อไป และนั่นก็ทำให้คนพื้นที่เองเริ่มเห็นปัญหา ในปี พ.ศ. 2552 “ครูกล้วย-กิตติมา เนตรพุกกณะ” ครูโรงเรียนเกาะพะงันศึกษาที่เป็นคนเกาะพะงันแท้ๆ เริ่มรู้สึกถึงปัญหาเหล่านี้ เธอบอกว่าตอนนั้นขยะบนเกาะส่งกลิ่นเหม็นมาก ที่ดินบนเกาะใช้ปลูกผักไม่ได้ เตาเผาขยะก็ระเบิดเพราะทำงานหนักเกินไป นั่นทำให้เธอเริ่มตระหนักและพยายามหาทางที่จะแก้ปัญหา