31 กรกฎาคม 2566 “แบงก์ชาติ” ชี้ ถึงเวลาใส่ใจสิ่งแวดล้อม รับมือกีดกันการค้า ชู 5 หลัก ดันภาคการเงินเข้าสู่ ESG

ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4097862

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา ESG Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ว่า ทุกคนคงรับรู้ได้ดี ได้ผ่านจุดที่ต้องตั้งคำถามถึงความสำคัญและความจำเป็นในการทำธุรกิจที่คำนึงถึง ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบ และเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โลกรวน และภัยพิบัติที่มากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยนั้นยังรั้งอยู่อันดับท้ายของการจัดอันดับขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยอยู่อันดับที่ 39 จากทั้งหมด 48 ประเทศ รวมทั้งคาดการณ์ว่าถ้าไทยเราไม่ทำอะไรเลย จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ถึง 43% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)

นายรณดล กล่าวว่า นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญกับแรงกดดัน จากต่างประเทศในเรื่องของ มาตรการการรับมือกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวปฏิบัติของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ ที่มุ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจึงต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อม อาทิ สหภาพยุโรป เตรียมที่จะเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ เหล็กกล้า และปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และเชื่อว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นจะมีมาตรการตามมาอีก

“สำหรับ แบงก์ชาติ ได้มีการกำหนดนโบายบายเรื่อง ESG มานานแล้ว และผลักดันมาโดยตลอด อาทิ เรื่องสังคม ก็ได้มีการออกนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนมาต่อเนื่อง เรื่องธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินก็เน้นการกำกับเรื่องการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกันด้านสิ่งแวดล้อม สถานบันการเงินถือเป็นตัวกลาง ในการสนับสนุนการปรับตัว โดยต้องไม่ช้าเกินไปจนไม่ทันเทรนด์โลก แต่ต้องไม่เร็วเกินไปให้ปรับตัวทัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นายรณดล กล่าว

นายรณดล กล่าวว่า โดยเรื่องสิ่งแวดล้อม แบงก์ชาติ ได้ผลักดันผ่านรากฐานสำคัญ 5 ด้าน โดยที่เริ่มดำเนินการแล้วมี 2 ด้านคือ 1.ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินคำนึกถึงสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2565 และ 2.ไทยแลนด์ แทคโซโนมี่ (Thailand taxonomy) หรือการกำหนดนิยามธุรกิจคำนึกถึงสิ่งแวดล้อม เริ่มเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณที่ดีที่สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มมีการคำนวณ เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในความเสี่ยงธุรกิจ และความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เป้าหมายเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียวมากขึ้นในประเทศ สำหรับด้านอื่นๆ อีก 3 ด้าน คือ 1.ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อม 2.สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจปรับตัว
ด้านสิ่งแวดล้อม และ 3.ยกระดับองค์ความรู้ด้านการเงินนั้น แบงก์ชาติก็จะพัฒนาและผลักดันต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy