30 สิงหาคม 2566 สมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมร่วมกันผลักดัน การจัดตั้งกองทุนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกลไกการเงินสนับสนุนการดำเนินงาน

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ครั้งที่ 7 (The 7th GEF Assembly) ภายใต้หัวข้อ “Healthy Planet, Healthy People” ณ ศูนย์ประชุมนครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

สมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมร่วมกันผลักดันการจัดตั้งกองทุนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกลไกการเงินสนับสนุนการดำเนินงานให้แต่ละประเทศเดินหน้าได้ตามเป้า เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก

           นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า จากการเข้าร่วมการประชุมสมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ครั้งที่ 7 (The 7th GEF Assembly) ภายใต้หัวข้อ “Healthy Planet, Healthy People” ณ ศูนย์ประชุมนครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) 185 ประเทศทั่วโลก จะประชุมทุก 4 ปี เพื่อร่วมกันรับรองการจัดตั้งกองทุน Global Biodiversity Framework Fund (GBF) ที่จะเป็นกลไกการเงินสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายของกรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งประเทศแคนาดาและสหราชอาณาจักรประกาศจะบริจาคเงินเข้าสู่กองทุน GBF เบื้องต้นประเทศแคนาดาได้ประกาศคำมั่นบริจาคเงินเป็นจำนวน 200 ล้านดอลลาร์แคนาดา ในส่วนของประเทศไทยได้ร่วมรับรองการปรับเอกสาร การดำเนินงานของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปรับเพิ่มบทบาทให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ทำหน้าที่เป็นกลไกการเงินของความตกลง BBNJ Agreement ที่เป็นความตกลงระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลอย่างยั่งยืน ในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ

             รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า ประเทศไทยยังได้กล่าวถ้อยแถลงต่อประเด็นการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมโลก โดยเน้นบทบาทสำคัญของกองทุน GEF กองทุน GBF และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อมโลกที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษสิ่งแวดล้อม พร้อมมีข้อเสนอให้กองทุน GEF เน้นการสนับสนุนโครงการในลักษณะบูรณาการระหว่างสาขาที่ GEF ให้การสนับสนุน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการความเสื่อมโทรมของที่ดิน การจัดการสารเคมีและของเสีย และการจัดการน่านน้ำสากล รวมถึง ให้คำนึงถึงความยั่งยืนและการติดตามประเมินผลของโครงการที่ได้รับ
การสนับสนุนจากกองทุน GEF ด้วย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy