30 มีนาคม 2566 เช็กลิสต์! ใครต้องปลดล็อก ประกาศเขตภัยพิบัติ “ฝุ่น”

(https://www.thaipbs.or.th/news/content/326088)
กางมาตรา 4 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใครต้องตัดสินใจประกาศเขตภัยพิบัติ (ฝุ่น) ชี้ไม่ใช่เรื่องยากถ้า “กปภ.ช. ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะแล้วลงมติ ส่วนคพ.เล็งปรับใช้เกณฑ์ WHO กำหนดระเบียบภัยพิบัติ
“สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ รวมถึงประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน”
หากถอดรหัสคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่อยู่ในระดับสีแดง ต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ บางวันค่าเฉลี่ยสูงกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลกระทบต่อสุขภาพ แม้เครือข่ายองค์กรจะเรียกร้องให้ท้องถิ่น และรัฐบาลสางปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งการลดการเผาที่เกิดขึ้นในฝั่งไทยที่พีคกว่า 5,500 จุดทุบสถิติรอบ 5 ปีและการเผาพื้นที่เกษตรในรอบประเทศเพื่อนบ้านที่กลายเป็นฝุ่นข้ามแดน แต่ดูเหมือนว่า “คำตอบ” จะเหมือนกับฝุ่นที่อยู่ในสายลม ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามแหล่งข่าวในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วิเคราะห์สาเหตุที่ รมว.มหาดไทย ไม่ตัดสินใจประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่น ใน อ.แม่สาย ได้ทันที เพราะตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 4 คำนิยาม “สาธารณภัย” แหล่งข่าวระบุว่า เหตุผลที่ รมว.มหาดไทยและท้องถิ่นไม่สามารถตัดสินใจประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่นแม่สายได้ อาจจะไม่มีนิยามคำว่า “ภัยจากฝุ่น” โดยตรง เมื่อไม่ชัด จึงต้องใช้ดุลพินิจ เรื่องนี้เคยมีลักษณะเดียวกับการตีความการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่เข้าข่ายสาธารณภัย ต้องโยนให้จังหวัดเป็นผู้ตีความ ซึ่งแล้วแต่คนว่าจะตีความหรือไม่ตีความเพราะมีเงื่อนไข ทั้งเรื่องคน เวลา และระดับผลกระทบ ส่วนตัวมองว่าทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก เพราะมีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รวมทั้งรัฐมนตรีมหาดไทย ควรหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุย และมีมติให้ผลกระทบฝุ่น อยู่ในนิยามของคำว่า สาธารณภัย กำหนดให้ชัดเจน