30 มกราคม 2565 เรื่องธรรมชาติ กองทัพหอยแมลงภู่ แนวโขดหินริมทะเล หาดสมิหลา

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/south/2301162
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Hongsanart Prachakittikul ได้โพสต์ภาพ “หอยแมลงภู่” จำนวนมากที่ขึ้นอยู่บริเวณแนวโขดหินริมทะเลหาดสมิหลา พร้อมข้อความระบุว่า “หอยแมลงภู่ริมหาดสมิหลา 23/01/2565 แนวโขดหินริมทะเลระหว่างศาลาไทยกับเสาหลักศุลกากรค่ะ”ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าหอยแมลงภู่เหล่านี้มาได้อย่างไร เป็นลางบอกเหตุอะไรหรือไม่ ซึ่งหอยแมลงภู่ที่เห็น จะเป็นหอยตัวเล็ก ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร เกาะกันแน่นเต็มโขดหิน
นายราตรี สุขสุวรรณ์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ให้ข้อมูลว่า หอยแมลงภู่มีขนาดเล็กมาก อายุคงไม่เกิน 2 เดือน ขนาดโดยเฉลี่ยไม่เกิน 2 ซม. จริงๆ เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และเมื่อโตก็จะถูกเก็บจนหมดไป ซึ่งบริเวณดังกล่าวสภาพน้ำมีความเหมาะสมทำให้มีแพลงก์ตอน เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะทำให้ตัวอ่อนสามารถลงเกาะได้
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า เป็นปกติทุกปีที่จะมีหอยแมลงภู่มาเกาะตามโขดหินบริเวณชายหาดสมิหลาแบบนี้ อีกสักประมาณ 2-3 เดือนก็น่าจะโตเต็มที่ จากนั้นก็จะมีชาวบ้านเก็บไปกิน ไปขายกัน
ล่าสุด ดร.เพ็ญศรี เมืองเยาว์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโขดหิน จุดที่พบหอยแมลงภู่จำนวนมากอาศัยอยู่ ซึ่งห่างจากรูปปั้นนางเงือกประมาณ 200 เมตร จากการสังเกตตามโขดหินพบหอยแมลงภู่จำนวนมาก มีขนาดตั้งแต่ 1 ซม.ขึ้นไป จนถึง 3 ซม. ดร.เพ็ญศรี กล่าวว่า จากกรณีที่พบหอยแมลงภู่จำนวนมากนั้น เนื่องจากเป็นฤดูการวางไข่ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์ คือปกติหอยแมลงภู่จะวางไข่ทั้งปี และช่วงที่วางไข่มากที่สุดจะเป็นช่วงพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงหน้ามรสุมด้วย ในการวางไข่ช่วงแรกลูกหอยแมลงภู่จะมีลักษณะล่องลอยไปกับน้ำ พอช่วงหน้ามรสุมจะมีกระแสน้ำพัดพามา จากนั้นลูกหอยแมลงภู่ตั้งแต่ 15 วันขึ้นไป หรือ 17-21 วัน ลูกหอยจะอยู่ในระยะลงเกาะ ซึ่งกระแสน้ำจะพัดพาไปในที่ที่มีการยึดเกาะ
นอกจากนี้ หากสังเกตบริเวณหาดสมิหลา ก็จะมีโขดหินซึ่งเป็นที่ยึดเกาะของลูกหอย ซึ่งเมื่อกระแสน้ำพัดพามา เราก็จะเห็นลูกหอยแมลงภู่เกาะอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของหาดสมิหลา แต่โดยทั่วไปจริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ และสิ่งที่ทำให้ลูกหอยมีชีวิตรอดอยู่จากสภาวะแวดล้อมและอาหาร ซึ่งลูกหอยเป็นสัตว์กรองกินแพลงก์ตอน หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำ และบริเวณหาดสมิหลาซึ่งเปรียบเหมือนปากทะเลสาบเป็นจุดที่น้ำจืดน้ำทะเลไหลมารวมกัน ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติ เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารของลูกหอยได้เป็นอย่างดี