3 สิงหาคม 2567 สกศ.เร่งวางแนวทางพัฒนาการศึกษา ให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป

นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศด้านการศึกษา อาทิ องค์การยูเนสโก ประเทศไทย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำหนดจัดการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป (International Education Council Seminar on Education Competitiveness in a Global Changing Environment) เพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลการประชุมในวันแรกนั้น

พบประเด็นสำคัญในการจัดการศึกษาในหลายประเด็น เช่น เมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อรองรับเยาวชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีงานทำ มีความสามารถ มีทักษะชีวิตเพื่ออยู่ในระบบสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตนเชื่อว่าครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในโลก และประเทศไทย ที่เริ่มและผลักดันแนวคิดนี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“นอกจากการร่วมมือทางการศึกษาแล้ว สิ่งสำคัญคือ การมีงานทำ ได้เชิญ World Bank มาแสดงความคิดเห็น ซึ่งทาง World Bank ได้ให้ความคิดเห็นว่า การผลิตกำลังที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการคือสิ่งสำคัญ แต่โจทย์สำคัญในการจัดการศึกษาของเรานั้น คือ ยังไม่ตอบโจทย์ของสถานประกอบการซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม และหอการค้าไทยและต่างประเทศ เห็นตรงกันว่าการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการผลิต พัฒนากำลังคน การที่ให้ผู้เรียนอยู่ในสถานประกอบการมากขึ้น จะเป็นประโยชน์มากกว่าการอยู่
ในห้องเรียน ซึ่งต่อไป สกศ.จะนำไปกำหนดเป็นแนวทางจัดการศึกษาในอนาคตต่อไป” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมให้คงอยู่ และสอดคล้องกับบริบท ก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน โดยจะทำอย่างไรที่จะทำให้สภาพสังคมมีการเกื้อกูลต่อกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน วัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมในการจัดการศึกษาเช่นกัน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มีส่วนสำคัญต่อครู ฉะนั้น หากต้องการขับเคลื่อนให้ผู้เรียนเท่าทันเทคโนโลยี ต้องส่งเสริม AI ซึ่งในส่วนของ สกศ.นั้น

ตนได้เสนอที่ประชุมว่าเมื่อส่งเสริม AI คุณธรรมจริยธรรม การใช้ AI เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ถ้าเราเสริมเทคโนโลยี ต้องส่งเสริมการใช้จริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีด้วย เพื่อให้ผู้เรียนที่มีคุณภาพกับโลกที่เปลี่ยนไปด้วยเลขาธิการสภาการศึกษากล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงเรื่อง Green โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เห็นว่าในทุกวิชาควรจะส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลง เด็กแต่ละภูมิภาคควรได้เรียนรู้บริบทพื้นที่ของตน ซึ่งอาจจะนำเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเรียนวิชาเลือกเสรี เพื่อให้เขาคุ้นชินกับพื้นที่ที่เขาอยู่

ที่มา : มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/education/news_4712022)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy