3 มีนาคม 2563 ซากสาหร่ายพันล้านปีสัมพันธ์กับพืชบกยุคใหม่

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1785040
เมื่อเร็วๆ นี้ นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย หรือเวอร์จิเนียเทค เผยการค้นพบที่น่าทึ่งในประเทศจีน นั่นคือซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลขนาดเล็กอายุ 1,000 ล้านปีของสาหร่ายทะเลสีเขียวที่รู้จักกันในชื่อ Proterocladus antiquus ที่แทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีความยาว 2 มิลลิเมตร หรือเทียบได้กับขนาดของหมัดทั่วไป
นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า ฟอสซิลสาหร่ายสีเขียวที่พบนี้มีความเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา มันถูกฝังไว้ในหินที่ได้มาจากพื้นที่แห้งแล้ง แต่ในอดีตเคยเป็นมหาสมุทรใกล้เมืองต้าเหลียน ในมณฑลเหลียวหนิง ทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการค้นพบซากฟอสซิลที่เชื่อว่า เป็นสาหร่ายทะเลสีเขียวฝังในหินอายุ 800 ล้านปี
นักบรรพชีวินวิทยาอธิบายว่า ซากฟอสซิลที่พบใหม่ ชี้ให้เห็นว่า สาหร่ายสีเขียวมีบทบาทสำคัญในมหาสมุทรมานานก่อนที่ลูกหลานของพืชชนิดนี้จะเคลื่อนที่เข้าครอบคลุมพื้นที่บนบก นั่นหมายความว่า สาหร่ายสีเขียวโบราณอาจเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของพืช และต้นไม้ในดินแดนบนบกแห่งแรกสุด ที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อ 450 ล้านปีก่อน มีการสร้างสมมติฐานว่า พืชบกในปัจจุบันอย่างต้นไม้ หญ้า พืชที่ปลูกไว้เป็นอาหาร พุ่มไม้ หรือแม้แต่รากไม้ที่ใช้บริโภค เช่น รากคุดซู ต่างวิวัฒนาการมาจากสาหร่ายทะเลสีเขียวซึ่งเป็นพืชน้ำ พวกมันผ่านช่วงเวลาทางธรณีวิทยานับล้านๆ ปี จนเคลื่อนตัวออกจากน้ำ และปรับตัวเจริญเติบโตบนพื้นที่แห้งแล้ง ซากฟอสซิลอายุพันปีดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของพืชบกยุคใหม่ทุกชนิดที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้