3 พฤษภาคม 2568 ชวนส่อง “งานสีเขียว” อาชีพที่ตลาดแรงงานไทยต้องการ

สถานการณ์งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีจุดชี้ชัดว่ากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจที่กำลังปรับตัวก่อนใครในบ้านเรา ประกอบไปด้วย 4 ภาคธุรกิจด้วยกัน ได้แก่ ภาคธุรกิจด้านพลังงานและเคมี ภาคธุรกิจด้านอาหารและเกษตร ภาคธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม

         เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจเหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจเยอะกว่าภาคธุรกิจอื่น รวมถึงการปล่อยมลพิษ หากไม่ปรับตัวตอนนี้ ในอนาคตอาจสูญเสียกำไรเม็ดเงินและโอกาสในการเติบโตในอนาคตเป็นอย่างมาก

ถึงวันนี้ รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนให้เกิดตำแหน่งงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบายต่างๆ ที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรมลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น เช่น งดเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร ผลักดันธนาคารให้ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไปจนถึงสนับสนุน
การติดตั้งโซลาร์เซลล์ตลอดจนแหล่งผลิตพลังงานสะอาดอื่นๆ และเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหากบริษัทนั้นปล่อยมลพิษสูง

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำเพื่อปรับตัว เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน และสร้างธุรกิจ
สีเขียวให้ตอบโจทย์ตลาดในอนาคต คือการลงทุนบุคคลผู้เป็นอนาคตขององค์กร ด้วยการจัดอบรมให้มีทัศนคติและอุปนิสัยด้านการพัฒนา เสริมทักษะให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมเท่าทันโลก อย่างเช่นบริษัท CPN บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่เอาจริงด้านนี้ พนักงานตำแหน่ง CFO ต้องรับหน้าที่ดูแลเรื่องความยั่งยืน กำกับดูแลกิจการและธรรมาภิบาล ผ่านการสนับสนุนกลไกการดูแลสิ่งแวดล้อมจากการลงทุน สร้างให้เกิดธุรกิจยั่งยืนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในโลกอนาคต ทุก stakeholder ก็สามารถเติบโต
อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

           จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี 2020 เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6 เปอร์เซ็นต์ รายงานยังระบุว่าเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างงานเพิ่มอีก 1.2 ล้านตำแหน่งภายในปี ค.ศ.2030

เวลานี้ พนักงานที่ทำงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยยังคงขาดตลาดมากจนค่าตัวพุ่งสูงขึ้น 3 เท่าจากเดิม โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และด้านพลังงานสะอาด เช่น เจ้าหน้าที่จัดการการท่องเที่ยวฟื้นฟูป่า ช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกังหันลม ช่างติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่ปรึกษาด้านการใช้พลังงานสะอาด ไปจนถึงช่างเย็บกระเป๋าหนังอีโค่ ตัวอย่างอาชีพเหล่านี้คือโอกาสใหม่ของทุกคน
ดังนั้น ทิศทางของงานสีเขียว (Green Jop) ซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้ “ทักษะสีเขียว” (Green Skills) ย่อมจะยิ่งมีการเติบโตขึ้น ตามความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว ต่อไปนี้คือแนวโน้มอาชีพสีเขียวที่น่าจับตามอง ผู้จัดการด้านความยั่งยืน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม วิศวกรพลังงานทดแทน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ นักเกษตรอินทรีย์ นักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม นักออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียว

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy