3 ธันวาคม 2563 พบรอยเท้า และฟอสซิลคล้ายซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ ๒๐๐ ล้านปีที่ จ. เพชรบูรณ์

ที่มา:

https://www.postoday.com/social/local/639457

นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์เปิดเผยว่า ค้นพบรอยเท้า และฟอสซิลคล้ายชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ ในเขตรักษาพันธุ์รักษาสัตว์ป่าภูผาแดง ต. ปากช่อง อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ เนื่องจากทางอุทยานฯ ส่งทีมสำรวจลงพื้นที่ไปสำรวจรอยเท้าสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ เมื่อวันที่ ๒๘ – ๒๙ พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากมีข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีระบุว่า เคยพบรอยเท้าสัตว์โบราณในลำห้วยน้ำดุกจำนวน ๒ รอย และพบรอยเท้าจำนวนราว ๑๐ รอยบนก้อนหินทรายขนาดใหญ่ เข้าใจว่าหลุดมาจากหน้าผาลักษณะเป็นหินในหมวดหินน้ำพอง ยุคไทรแอสสิกตอนปลายอายุประมาณ ๒๐๐ ล้านปี อยู่ในลำห้วยน้ำดุกและลำห้วยกลฑาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดงดังกล่าว

แต่ที่น่าทึ่งคือ ทีมสำรวจพบกลุ่มหินฟอสซิลคล้ายชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์จำนวนมาก ที่บริเวณริมห้วยกลฑาซึ่งอยู่เหนือจุดที่พบรอยเท้าราว ๑ กม. จากการสังเกตุลักษณะทางกายภาพบ่งชี้ได้ว่า ฟอสซิลเหล่านี้ไม่ใช่หินตามธรรมชาติ แต่เป็นซากฟอสซิลคล้ายชิ้นส่วนโครงกระดูกของสัตว์ดึกดำบรรพ์ โดยมีทั้งฟอสซิลที่คล้ายชิ้นส่วนกระดูกสันหลัง กระดูกโคนขา และกระดูกซี่โครง จะเป็นฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดไหนยังไม่สามารถชี้ชัดได้ คงต้องรอการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญ ล่าสุดส่งรายงาน และข้อมูลการค้นพบทั้งรอยเท้า และฟอสซิลคล้ายชิ้นส่วนโครงกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ไปยังกรมทรัพยากรธรณี พร้อมประสานผู้เชี่ยวชาญมาตรวจพิสูจน์ ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการค้นพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์โปซอโรพอดที่ อ. น้ำหนาวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ หากผลการพิสูจน์ยืนยันว่า ฟอสซิลชิ้นส่วนสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบล่าสุด เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์หรือไดโนเสาร์จริงจะเป็นการยืนยันว่า พื้นที่บริเวณนี้เคยมีไดโนเสาร์หรือสัตว์ดึกดำบรรพ์อยู่อาศัยมาก่อน กระดูกไดโนเสาร์โปซอโรพอดที่พบที่ อ. น้ำหนาว เป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy