29 กรกฎาคม 2566 ‘เอลนีโญ’ มาแล้ว กระทบทั่วโลก รุนแรงกว่าเดิม แล้งนาน – พายุบ่อย – ร้อนขึ้น

ปรากฏการณ์เอลนีโญ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1078984

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ประกาศว่าปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบ “ลานีญา” ได้สิ้นสุดลง และคาดว่าเอลนีโญจะเกิดขึ้นรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสิ้นปี ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นกว่าเดิม

เอลนีโญคืออะไร?

ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เอลนีโญ (El Niño) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ โดยเป็นความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ซึ่งเอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศสูงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ทำให้กระแสน้ำอุ่นจะไหลเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ตามชายฝั่ง จนเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาชายฝั่ง

นอกจากเอลนีโญแล้ว ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ยังมีปรากฏการณ์คู่ตรงข้ามเรียกว่า “ลานีญา” (La Niña) เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก โดย 2 ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นสลับกันในทุก 5-6 ปี และตอนนี้กำลังเข้าสู่เอลนีโญอย่างเต็มรูปแบบ

เอลนีโญส่งผลให้สภาพภูมิอากาศทั่วทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายลง ตั้งแต่การเกิดคลื่นความร้อนจนถึงพายุที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น อุทกภัย ภัยแล้ง เป็นการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและอาศัยเกษตรกรรม และการประมงเป็นรายได้หลักของประเทศ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย

มีการคาดการณ์ว่า เอลนีโญในครั้งนี้จะรุนแรงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา จนเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์เอลนีโญ” ทำให้ในปีนี้อุณหภูมิจะพุ่งสูงขึ้นกว่าปี 2022 และจะกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดประมาณอันดับที่ 5-6 ในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการบันทึกมา

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจากเอลนีโญจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประชาชนอาจไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งปี 2024 ที่อุณหภูมิอาจสูงขึ้นจนทำลายสถิติอันดับ 1 ของปี 2016 ที่เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกว่า ซึ่งในปีนั้นก็อยู่ในช่วงที่เกิดเอลนีโญเช่นกัน

นอกจากนี้เอลนีโญทำให้น้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกเคลื่อนที่ไปทางตะวันออก ทำให้กระแสลมกรดแปซิฟิก (Jet Stream) เคลื่อนตัวลงทางใต้ของตำแหน่งกลาง ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่แห้ง และอุ่นขึ้นทางตอนเหนือของสหรัฐ และฝนตกหนัก น้ำท่วมในแถบชายฝั่งอ่าวของสหรัฐ และทางตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy