28 กุมภาพันธ์ 2566 “‘5รหัสแดง’ ภัยพิบัติ ไทยเสี่ยงแค่ไหน ต้องรับมืออย่างไร”

(https://www.bangkokbiznews.com/environment/1055262)
ในปีที่ผ่านมาเรียกว่าประเทศไทยเจอ ‘ภัยพิบัติ’ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า คาดการณ์ว่าไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจไปกว่า 1.2 – 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้พูดถึงรหัสแดงต่อมนุษยชาติ 5 เรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าไทยต้องพบกับความเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่อง ‘น้ำท่วม’
ข้อมูลจาก ‘ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ’ พบว่า ภาพรวมน้ำท่วมปี 2565 ทำเศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2595 ยิ่งไปกว่านั้น World Economic Forum Global Risk ได้คาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather) และ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss)
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ 2566 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวในงาน เสวนาพิเศษ หัวข้อ ‘ถอดโมเดล Urban Hazard Studio’ สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จับตาภัยพิบัติ กรุงเทพ หากเกิดฝนร้อยปี โดยระบุว่า โลกทั้งใบกำลังป่วย การเจ็บป่วยของโลกล้วนมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น แต่เดิม 1.2 องศา จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามมาด้วยความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรา เมื่อปีที่ผ่านมา แอนโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึง รหัสแดงต่อมวลมนุษยชาติ (Code Red for Humanity) 5 เรื่องหลัก ที่ไทยจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1. อุณหภูมิมีแต่จะสูงขึ้น คลื่นความร้อนจะตามมา 2. เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น น้ำระเหย ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพราะระเหยไปหมด ภัยแล้งจะตามมา 3. น้ำที่ระเหย อาจจะมองว่าหายไป แต่ความจริงอยู่ด้านบน อยู่ในรูปของไอ ฤดูฝนเมื่อเจอความเย็นจะตกมาเป็นฝนและตกหนัก 4. หากมีความเปราะบางในพื้นที่ น้ำจะท่วม 5. เมื่ออุณหภูมิสูง เรามีทะเล 2 ใน 3 เมื่อทะเลร้อนขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น กทม. อยู่ในระดับเรี่ยกับน้ำทะเล