28 กันยายน 2563 นักล่าตัวร้ายในทะเลยุคครีเตเชียส

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1938905
เมื่อประมาณ ๘๐ ล้านปีก่อนในทะเลน้ำตื้นที่ครั้งหนึ่งเคยแบ่งทวีปอเมริกาเหนือออกเป็นแผ่นดินบนบกฝั่งตะวันออกและตะวันตก เคยมีสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลขนาดยาว ๑๐ ม. ที่ว่ากันว่าน่าสะพรึงกลัว เนื่องจากมันมีฟันกรามทรงพลัง และมีแรงกัดมหาศาล จัดเป็นหนึ่งในนักล่าที่อยู่ด้านบนสุดของห่วงโซ่อาหาร (apex predators) สัตว์โบราณดังกล่าวเป็นกิ้งก่าทะเลชนิดหนึ่งรู้จักกันในชื่อโมซาซอร์ (Mosasaur) บ้างก็เรียกว่าราชากิ้งก่า พวกมันเคยครอบครองมหาสมุทรในเวลาเดียวกันกับที่ไดโนเสาร์ครอบครองดินแดนบนบก แต่ล่าสุด มีการวิเคราะห์ใหม่โดยภัณฑารักษ์ด้านบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออก แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลกะโหลกศีรษะและโครงกระดูกบางส่วนของสิ่งมีชีวิตที่ขุดพบใกล้กับเมืองซีดาร์เอดจ์ รัฐโคโลราโด ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และเคยคิดว่าเป็นสกุล Prognathodon และถูกตั้งชื่อว่า Prognathodon stadtmani ในตอนนี้ซากฟอสซิลเหล่านั้นสมควรได้รับการยอมรับว่า เป็นโมซาซอร์สกุลใหม่ ตามลักษณะกะโหลกศีรษะและขากรรไกร นักบรรพชีวินได้มอบชื่อใหม่เป็น Gnathomortis stadtmani มาจากคำในภาษากรีกและภาษาละติน อธิบายถึงฟันกรามของมันที่เรียกว่า “Jaws of Death” บ่งบอกให้เห็นว่า Gnathomortis stadtmani เป็นนักล่าสุดร้ายกาจเมื่อประมาณ ๗๙ หรือ ๘๑ ล้านปีก่อน โดยเหยื่อจะถูกปลิดชีวิตด้วยคมเขี้ยวมรณะของโมซาซอร์ชนิดนี้